สนช.มีคิวพิจารณากฎหมายสำคัญในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางปมค้านของสังคม โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ออกมาเทคแอคชัน ต้านพระราชบัญญัติดังกล่าวในหลายปม ที่สำคัญได้แก่ ประเด็นที่มาของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งคนทำคลอดคือ “สมชาย รัตวราหะ” อดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งต่อมารับตำแหน่งเป็น สนช. และเดินเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ซึ่งหลายฝ่ายฉงนว่า ทำไมคนร่างกฎหมายจึงไม่ใช่หน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จุดบอดที่น่าสนใจคือกฎหมายข้าว แม้จะอ้างว่าต้องการเข้าไปดูแลวงจรอุตสาหกรรมข้าว แต่กลับไม่ควบคุมในส่วนของการรับซื้อข้าวสาร มีข้อสงสัยว่าเป็นการเว้นช่องว่างให้พ่อค้าข้าวหาประโยชน์หรือไม่
ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยถึงอีกหนึ่งปมยี้ ที่กระทบกับโรงสี เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือก ออกใบรับซื้อข้าวเปลือกทุกครั้ง และรายงานต่อกรมการข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการซื้อขายข้าวเปลือกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากโรงสีไม่ออกใบรับซื้อจะมีโทษปรับ 20,000 บาท (ร่างแรกปรับ 50,000 บาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ) หรือกรณีที่โรงสีออกใบรับซื้อเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง มีโทษปรับ 1 แสนบาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แหล่งข่าวจากวงการโรงสีระบุว่า ประเด็นนี้ในทางปฏิบัติทำยากและเสี่ยงมาก เพราะขั้นแรกชาวนาขายข้าวเปลือกต่อให้พ่อค้ารวบรวมมาส่งโรงสี เท่ากับต้องออกใบรับซื้อ 2 ขั้นตอน เพื่อส่งให้กรมการข้าวไปทำฐานข้อมูล big data ถือเป็นความยุ่งยาก ไม่ใช่การอำนวยความสะดวกต่อระบบการค้าเสรี ขณะเดียวกันหากสังเกตจะเห็นว่าในขั้นการจำหน่ายข้าวสารจากโรงสีขายข้าวสารให้ผู้ส่งออก กลับไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ส่งออกออกใบรับซื้อข้าวสารจากโรงสีเลย จึงไม่อาจเรียกว่าดูแลทั้งระบบได้
กฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ เรียกข้อมูล อายัดสินค้า หากเจ้าหน้าที่ตีความว่าโรงสีซื้อขายข้าวเปลือกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือแจ้งใบรับซื้อเท็จ
“ในทางปฏิบัติชาวนาไม่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เราไม่รู้ว่าชาวนาปลูกข้าวพันธุ์อะไรมาขาย หากชาวนานำข้าวพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง เช่น ไรซ์เบอรี่ หรือข้าวที่ลักลอบนำเข้าอย่างจัสมิน 85 มาขายให้โรงสี แล้วแจ้งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง เท่ากับโรงสีออกใบรับซื้อเท็จ ซึ่งประเด็นเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะใช้เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ในอนาคต”
และที่สังคมออกอาการไม่ปลื้มกันมาก ต้องยกให้เรื่องที่กฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้ “ชาวนา” เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้จำหน่าย
หากผู้ค้าเมล็ดพันธุ์โดยไม่รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท
เท่ากับว่าเป็นการปิดโอกาสให้ชาวนาได้เก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าว ขณะที่มีความกังวลว่าเป็นกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุนเมล็ดพันธุ์ใช่หรือไม่
“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นคนหนึ่งที่ออกมาค้านเรื่อง พรบ.ข้าวอย่างสุดตัว
“นายอนุทิน” เคยโพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า
“ร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจมากเกินไป มีเจตนา มีความพยายามเข้าไปควบคุม ครอบงำวิถีชีวิตของชาวนา จนกลายเป็นการพันธนาการ ผูกมือมัดเท้าชาวนา จะทำอะไร ก็ต้องขออนุญาตจากรัฐ ต้องรอให้รัฐบาลอนุมัติ อนุญาต
ร่างพ.ร.บ.ข้าว ควรจะส่งเสริมด้านการตลาด การขาย ให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูงขึ้นอย่างเป็นธรรม ด้วยระบบกำไรแบ่งปันตามที่พรรคภูมิใจไทย เสนอ ไม่ใช่ออกกฎหมายมาทำให้ชาวนาต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง เสียเปรียบร่ำไป พ่อค้ารวยขึ้น ได้เปรียบตลอดไป
ร่างพ.ร.บ.ข้าว ต้องไม่ออกมาควบคุมการผลิต การทำนาของชาวนา ทำให้ชาวนามีปัญหาในการทำนาต้องหวาดกลัวจะถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะการทำนา
ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตกันเอง แลกเปลี่ยนกันเองไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับเป็นแสน
กฎหมายแบบนี้ เป็นการทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ โดยแท้
ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนรู้เรื่องข้าว เรื่องทำนา และวิถีชีวิตของชาวนา รวมทั้งหนี้สิน ดีกว่าชาวนา
อธิบดีกรมการข้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทำนาเป็นหรือเปล่า ก็ไม่รู้
เมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของชาวนา ชาวนาจะซื้อมาใช้ก็เป็นสิทธิ หรือ จะผลิตใช้เอง จะแลกเปลี่ยนกันเอง ก็เป็นเรื่องของภูมิปัญ ญาท้องถิ่น ที่มีมานานเป็นร้อยปี พันปี การผลิต และแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ชาวนามีความรู้มากกว่าใคร
ให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพกับประชาชนบ้างเถอะครับ
อย่าให้ชาวนาต้องบอกว่า “มือไม่พาย อย่าเอาเท้าราน้ำ” หรือ “ไม่ช่วย ก็อย่าทำลาย”
เอาเป็นว่า ถ้า สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ข้าว
พรรคภูมิใจไทย เข้าสภาฯ เราจะพาชาวนามา ฉีกทิ้ง แล้วจะพาชาวนา มาร่างกฎหมายข้าว ฉบับใหม่ ที่ใช้ระบบกำไรแบ่งปัน สร้างรายได้ให้ชาวนาเพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรม
กฎหมายข้าว ต้องเป็นประโยชน์กับชาวนา”
Ringsideการเมือง