“ไทยโพสต์” รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คดีหมายเลขดำที่ ๓๕๑/๒๕๖๒ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๐๔/๒๕๖๒ ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ในการประชุมครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (นายทะเบียนพรรคการเมือง) จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งการมีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๒
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ อันถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองก็ตาม แต่โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) กระทำการล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๓) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔ (๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด กรณี จึงถือว่า การพิจารณายุบพรรคการเมืองมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ