ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นผู้เสนอ มีผลให้ร่าง พ.ร.บ. นี้พร้อมบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทันที
โดย สมาชิก สนช. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 149 คน ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ 133 คน ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และมีสมาชิก 16 คนงดออกเสียง
ข่าวสดรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีเนื้อหาสำคัญคือ มีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีนายกฯเป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกซ.) มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และคณะกรรมการส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ(กสส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน และเปิดช่องให้ กปช. ตั้งคณะกรรมเฉพาะด้านอื่นได้อีก รวมทั้งมี คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(คกส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน
สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง 2.ร้ายแรง และ3.วิกฤต สำหรับการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม ระดับร้ายแรง เจ้าหน้าที่ Cyber Security สามารถเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยเหตุเเค่เพียงต้องสงสัย โดยไม่ได้เริ่มคดีเเละไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ขอหมายค้นจากศาล โดยให้ กปช. หรือ กกซ. ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉิน และหากเป็นภัยคุกคาม ระดับวิกฤต ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้
ทั้งนี้ กปช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้แจ้งต่อศาล