นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการประจำสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยถึงกรณีของคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า การที่พลเอกประยุทธ์ อาจลงพื้นที่หาเสียงช่วยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ชัดเจน สมกับเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะด้วยความเป็นรัฐบาลอำนาจเต็ม มีข้อจำกัดมากมาย และถูกจับผิดมากแน่นอน เช่นการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ประกาศจะจับตาการลงพื้นที่ การปราศรัย รวมถึงการใช้บุคลากรหรือทรัพยากรของทางราชการหรือไม่
ในขณะเดียวกัน การเป็นข้าราชการการเมือง กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่พลเอกประยุทธ์ มีอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ หัวหน้า คสช.ที่กินเงินเดือนประจำ ดังนั้น หลายคนจึงตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุป และสุดท้ายก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
สำหรับความมั่นของพรรค พปชร.ที่ว่าจะมีพี่น้องประชาชนมาต้อนรับพลเอกประยุทธ์ที่จังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจะมีกลไกของรัฐช่วย ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร และเชื่อว่าสาเหตุที่ไปเปิดตัวที่นั่น เพราะต้องการสร้างจุดขายเล็กๆน้อยๆ เช่น บอกว่าตัวเองเป็นคนโคราช
นายสติธร กล่าวต่อว่า กรณีที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย ปราศรัยว่าพลังประชารัฐไม่มีกระแส ซึ่งตรงนี้บอกยาก ไม่ทราบว่าไม่มีกระแสจริงๆ หรือเป็นเพียงโวหารบนเวที ดังนั้น ต้องไปวัดกันด้วยผลการเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่มีกระแสว่านายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาแรงในโพลของซูเปอร์โพลนั้น วิเคราะห์ได้ 2 อย่างคือ ประการแรก วิธีการได้มาซึ่งผลสำรวจ ครั้งแรกกับครั้งที่สองอาจไปสำรวจในพื้นที่ต่างกัน ส่วนประการที่สองคือ พรรคภูมิใจไทยเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะนโยบายที่มีความโดดเด่น อย่างเช่นเรื่องกัญชาเสรี
“เราจะสังเกตว่าตอนนี้ ถ้าพูดถึงนโยบายของพรรคใหญ่ ๆ แทบไม่มีความโดดเด่นและติดหูเหมือนในอดีต แต่กลับกลายเป็นว่านโยบายกัญชาเสรีของภูมิใจไทย และนโยบายน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน แห่งพรรคประชาชนปฏิรูป โด่งดังและถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ขณะที่พรรคอื่น ๆ แทบไม่มีคนจดจำนโยบายได้”
นายสติธร ยังกล่าวด้วยว่า โอกาสที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ จะเกิดขึ้นในกรณีที่พรรคการเมือง 2 ขั้ว ได้เสียงในระดับใกล้เคียงกัน และไม่มีใครยอมใคร จนท้ายที่สุดต้องยอมให้นายอนุทิน หัวหน้าพรรคตัวแปร ซึ่งมีบุคคลิกประนีประนอมและอยู่ตรงกลางมาทำหน้าที่ตรงนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน