ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)โดยข้อกล่าวหา คือ กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92(2) ของกฎหมายพรรคการเมือง จากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 นั้น
iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพือกฎหมายประชาชน รายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
- นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2. จรัญ ภักดีธนากุล
3. ชัช ชลวร
4. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
5. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
6. บุญส่ง กุลบุปผา
7. ปัญญา อุดชาชน
8. วรวิทย์ กังศศิเทียม
9. อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มี 9 คน ประกอบด้วย
๐ ตุลาการ 3 คน มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
๐ ตุลาการ 2 คน มาจาก ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
๐ ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
๐ ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
๐ ตุลาการ 2 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ
แต่กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยังไม่เคยถูกใช้งาน เพราะตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มใช้ในปี 2561 ก็ยังไม่เคยได้ใช้เพื่อสรรหาใครมาดำรงตำแหน่งเลย เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา 80 เขียนไว้สรุปได้ว่า กระบวนการสรรหาตุลากาศาลรัฐธรรมนูญให้เริ่มใช้ได้หลังเปิดประชุมสภาได้หลังการเลือกตั้ง ดังนั้น ตุลาการทั้ง 9 คน จึงมีที่มาจากยุค คสช. และจากยุคก่อน คสช.
อีกทั้ง เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญเดิมจะถูกยกเลิกไป แต่ คสช. ก็ออกประกาศ ฉบับที่ 48/2557 กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน
โดยพบว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นครินทร์ยังเคยทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ 2 ของ คสช. ด้วย
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้อย่างน้อยสองคน จึงเป็นคนที่เคยทำงานให้กับ คสช. และเข้ามานั่งในตำแหน่งได้โดยผ่านระบบการคัดเลือกของ คสช.
นอกจากนี้ วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ
และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ก็ถูกเลือกให้ยังอยู่ต่อไป ไม่ถูก “เซ็ตซีโร่” เช่นเดียวกับองค์กรอิสระบางแห่ง ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้ “มาตรา 44” ช่วยยืดอายุไว้ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง
เท่ากับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนนี้ คสช. ก็ได้เลือกแล้วว่า “ไว้ใจได้” จึงให้คงอยู่ในตำแหน่งยาวเกิน 11 ปี และให้มีหน้าที่คอยตีความบังคับใช้กฎหมายระหว่างการเลือกตั้ง รวมทั้งตัดสินคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองด้วย
สำหรับตุลาการอีกสองคนที่ไม่ได้มีที่มาจากการเข้าแทรกแซงของ คสช. ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตข้าราชการอัยการ และตุลาการศาลปกครอง
อ่านฉบับเต็มได้ที่ iLaw