เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกับ “มติชน” ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชูเหตุผลเป็นพรรคที่มีคะแนนนิยม หรือป๊อปปูลาร์โหวตอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ว่า
ในรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ได้เขียนถึงความชัดเจนของผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาล ว่าต้องเป็นพรรคที่ได้อันดับ 1 หรือไม่ แต่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละพรรคการเมืองในการรวบรวมเสียง หากรวมได้จำนวนมากก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนการใช้คะแนนมหาชนหรือป๊อปปูลาร์โหวตนั้น เป็นการใช้ในระบบของต่างประเทศเพื่อเลือกประธานาธิบดี เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยเป็นระบบรัฐสภา ถ้าแต่ละพรรครวมคะแนนเสียงกันได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ และในอดีตเคยมีพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยมาร่วมมือตั้งรัฐบาลผสม แต่ความมั่นคงของรัฐบาลก็ต้องดูองค์ประกอบต่างๆ
นอกจากนั้น ในการบริหารงานของรัฐบาลในระบบรัฐสภา ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากไม่ใช่ป๊อปปูลาร์โหวต เช่น การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการโหวตเพื่อผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติ แทนที่แต่ละฝ่ายจะทะเลาะกันแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจตามมาตรา 44 สามารถให้มีประชามติชี้ขาดการใช้ป๊อปปูลาร์โหวตในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกับขณะนี้เพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งมาไม่นาน กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งยังทำงานอยู่ จึงอยู่ที่ว่านายกฯจะกล้าพอหรือไม่ เพราะหากยิ่งช้า ประเทศชาติยิ่งสั่นคลอน พร้อมกันนี้ กกต.จำเป็นต้องทำให้ชัดเจนและเสร็จสิ้นโดยเร็วว่าคะแนนทั้งหมดเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้จัดตั้งรัฐบาลสบายใจว่าคะแนนของเขาไม่มีปัญหา