หน้าแรก Article แก้ปากท้อง ! โจทย์หินรัฐบาลยุคหลัง คสช.

แก้ปากท้อง ! โจทย์หินรัฐบาลยุคหลัง คสช.

0
แก้ปากท้อง ! โจทย์หินรัฐบาลยุคหลัง คสช.
Sharing

ชัดเจนว่ากระแสข่าวการเมืองครองพื้นที่สื่อพร้อมกับคำถามว่าใครจะมาวินได้ตั้งรัฐบาล จนกลบความจริงอีกมุมว่าขณะนี้ ประชาชนคนไทยยังคงประสบกับปัญหาปากท้องอยากยิ่ง ด้วยราคาพืชผลที่ขึ้นไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ และการเข้ามาแย่งงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกฝืดเคือง เหล่านี้ กระทบกับเงินในกระเป่าของคนไทย และยิ่งสร้างความลำบากให้กับพี่น้องประชาชนวินาทีต่อวินาที

แม้รัฐบาลอ้างว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่าเป็นราคาปัจจุบัน ซึ่งความจริงคือชาวนาได้เกี่ยวขายไปก่อนหน้านี้หลายเดือน ราคาข้าวที่พุ่งขึ้น จึงไม่ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีขึ้นมากนัก เช่นเดียวกับชาวสวนยาง ที่ต้องทนกับสภาวะยาง 3 โลร้อย 4 โลร้อยมาหลายปี

ขณะที่สถานการณ์ปาล์มปาล์ม ล่าสุด หล่นมาอยู่ที่ 2.20 บาทต่อกิโลกรัมตกต่ำสุดในรอบ 14 ปี ทว่า ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับไม่มีใครเอ่ยถึง และปล่อยให้ชาวสวนปาล์มที่มีนับล้านคนอยู่ในสภาวะเคว้งคว้าง  นี่คือภาพรวมของปัญหาปากท้องเกษตรกร ซึ่งกำลังจะถูกถาโถมซ้ำเติมจากภาวะภัยแล้ง ที่เป็นวิกฤติซ้ำซาก

ด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ได้ฝากการบ้านให้กับรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องแก้ไขคือ เรื่องปัญหาปากท้องประชาชนจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในส่วนของยางมีการใช้ยางในประเทศ 13%ของผลผลิตทั้งหมดอยู่แล้ว หากใช้ยางในประเทศเพิ่มปีละ 2% เมื่อครบ 20 ปีจะมีการใช้ยางในประเทศมากกว่า 50% ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม โจทย์คือจะกระตุ้นการบริโภคอย่างไร ให้ได้ตัวเลขตามที่ต้องการ

ส่วนปาล์มน้ำมัน ขณะนี้เกษตรกรขายได้กก.ละ 1.80-2 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ปี 2560 ที่ กก.ละ 3.80 บาท ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ ต้องแก้ปัญหา ถือเป็นความท้าทาย แต่ต้องเร่งทำให้ประสบความสำเร็จ

มากันที่ปัญหาปากท้องในเมือง  นายวรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดหาแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2562 ตลาดแรงงานไทยอาจอยู่ในภาวะชะลอตัว และคาดว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1-1.2 หรือราว 4 แสนคน จากผู้ใช้แรงงาน 38 ล้านคน

โดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เช่น ปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือปัญหาค่าเงินผันผวน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการส่งออกและบริการ รวมถึงในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล โดยอาจใช้เวลาอีก 2-3 ปี ในช่วงนี้คนจะว่างงานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ ทั้งนี้ทางภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาตัวบุคคลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะแรงงานไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องภาษา อีกทั้งควรส่งเสริมการศึกษาและทักษะแก่แรงงาน

สภาพปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยนขณะนี้ ที่ถือว่าน่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง

จากการวิจัยเก็บข้อมูลของสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าขณะนี้ คนไทยเป็นหนี้เร็วมาก และมีมูลค่ามาก  กระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มอายุ 30-35ปีมากที่สุดสัดส่วน 68% และในจำนวนนี้ มีสัดส่วนหนี้เสียถึง 20%  ซึ่งหนี้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการลงทุน นำไปซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน หรือเป็นหนี้ที่เป็นการก่อร่างสร้างตัว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค  เช่น นำเงินไปท่องเที่ยว  ซื้อข้าวของต่างๆ  โดยเฉพาะภาคเกษตร เห็นได้ชัดว่าเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ได้เป็นตัวฉุดไม่ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย  กระทบต่อกำลังซื้อ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไม่เติบโตเท่าที่ควร

เหล่านี้คือโจทย์ที่รัฐบาลชุดหน้าต้องเร่งแก้ไข

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่