“มติชน” รายงานว่า นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน จำนวน 7 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครสวรรค์ อุดรธานี บุรีรัมย์ จันทบุรี หัวหิน สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลพบุรี สระบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวมถึงยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ จ.นครพนม
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 31 มีนาคม 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก และ จ.สระบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง ด้านผลตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 71% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 63% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.8 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงเตรียมพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณขนานแนวชายแดนด้านตะวันออก อ.สอยดาว – อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 2 พื้นที่เป้าหมาย อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า ด้านพื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 39% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.4 ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครสวรรค์และกาญจนบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากในช่วงบ่ายมีสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการ จะช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวมถึงเติมน้ำให้กับแหล่งเก็บน้ำที่ได้รับผลกระทบ
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในทุกจ.ของพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ฝุ่นละอองในอากาศมีปริมาณหนาแน่นมากขึ้น ด้านผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 47% (ร้องกวาง) 40% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 26% (ร้องกวาง) 21% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 4.6 (ร้องกวาง) 10.0 (อมก๋อย) ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่และพิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองทันที
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่นและเลย ยังมีค่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 74% (บ้านผือ) 64% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 68% (บ้านผือ) 65% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.1 (บ้านผือ) -2.7 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 64% (พนม) 72% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 65% (พนม) 40% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.7 (พนม) -2.5 (ปะทิว) หน่วยฯ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีแผนขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี – ทิศตะวันออก อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี โดยมีเป้าหมายในพื้นที่การเกษตร อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินเติมน้ำให้กับพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ พื้นที่การเกษตร จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ตรัง และพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของ จ.ภูเก็ต
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 10 หน่วยปฏิบัติการ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ การเติมน้ำให้แหล่งน้ำและพื้นที่ลุ่มรับน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม ทั้งนี้สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร