หน้าแรก news ไม่สดใส ไปต่อลำบาก ! “บรรยง” ฟันฉับอนาคตเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้ง

ไม่สดใส ไปต่อลำบาก ! “บรรยง” ฟันฉับอนาคตเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้ง

0
ไม่สดใส ไปต่อลำบาก ! “บรรยง” ฟันฉับอนาคตเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้ง
Sharing

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ถึงการต่อสู้ทางการเมือง ในการเลือกตั้ง 2562 …(31 มีนาคม2562…7วันหลังเลือกตั้ง) โดยมีข้อความว่า Plato ปราชญ์ชาวกรีกผู้เกลียดชังประชาธิปไตย เคยพูดไว้เมื่อ 2,400 ปีก่อนประชาธิปไตย (Democracy)นั้น ถ้ามันจะมีความหมายแท้จริงเพียงหนึ่งเดียว มันก็คงจะถูกเก็บไว้บนสวรรค์ และก็คงจะไม่ตกลงมาหาเราชาวโลกตลอดกาล ซึ่งโดยนิยามนี้ ประชาธิปไตยก็คงเป็นเพียงมโนทัศน์(concept)และวาทกรรม(discourse)ที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างหนักและคงจะต้องถกเถียงกันต่อไปโดยไม่มีทางมีบทสรุปตายตัวไปได้ ว่าอย่างไหนจึงจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มันเป็นแค่เพียงกระบวนการพัฒนาที่ดำเนินมาตามการก้าวหน้าของอารยธรรมของมนุษย์

สำหรับผมแล้ว การเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันที่ 24 มีนาคม จึงไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่เอาประชาธิปไตย กับฝ่ายที่ไม่เอาประชาธิปไตยแต่อย่างใด …ทั้งไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างเสื้อเหลือง กับเสื้อแดง เสื้อเขียว หรือเสื้อสีไหนๆ หรือไม่ใช่แม้กระทั่งการสู้กันของพรรคทหาร กับไม่ใช่ทหารด้วยซ้ำ (เพราะฝ่ายทหารได้ไป 250 ที่นั่งโดยไม่ต้องสู้) มันเป็นแค่กระบวนการพัฒนาการครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่ที่ผมว่ามันสำคัญเพราะมันจะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตบ้านเมืองในหลายๆมิติอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้กฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้รับการรับรองจากประชามติอย่างท่วมท้น 17 ล้านเสียง ซึ่งถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งมากมายว่าเป็นการลงมติที่ไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง และอาจมีประชาชนจำนวนมาก(กว่า90%)ไปสนับสนุนโดยไม่ได้พิจารณารายละเอียด ที่สนับสนุนก็เพียงเพื่อให้ได้กลับสู่ประชาธิปไตยเสียที(เพราะยื้อมากว่าสองปีแล้ว) และถึงแม้ทั้งกฎกติกา ทั้งกรรมการผู้ออกแบบการแข่งขันและเป็นผู้ควบคุมตัดสินการแข่งขันจะไม่มีความเป็นกลางเลยอย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นก็เป็นกติกาที่ทุกคนรับรู้แล้วตกลงมาร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ลงแข่งขัน หรือผู้ที่ไปออกเสียงลงคะแนน ดังนั้นทุกคนควรจะต้องยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้

ผมไม่ได้สนใจว่าพรรคไหนกลุ่มไหนจะสามารถแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้อำนาจบริหารไป เท่ากับว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ว่าฟากไหนกลุ่มไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็แน่ชัดว่าจะไม่สามารถบริหารหรือปฏิรูปประเทศไปได้อย่างราบรื่น เพราะจากกฎเกณฑ์พิกลพิการที่รัฐธรรมนูญ2560นี้สร้างขึ้นมา ไม่ว่ากลไกของวุฒิสภา กลไกองค์กรอิสสระ รวมทั้งกลไกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่เอามาเป็นกฎหมายได้อย่างพิสดารพันลึก

ถ้าฝ่ายตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ได้จัดตั้งรัฐบาล การบริหารประเทศคงหยุดชะงักโดยเกือบจะสิ้นเชิงจากกลไกต่างๆที่ว่า ซึ่งก็ขึ้นกับว่าจะเปลี่ยนกฎกติกา(แก้รัฐธรรมนูญ)ได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน เพราะถูกกำหนดให้แก้แทบไม่ได้เลย นอกจากจะเกิดฉันทามติของมหาชนส่วนใหญ่ ซึ่งก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย(แต่กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติกับกม.ปฏิรูปประเทศแก้ได้ ถ้ามีเสียงข้างมากและกดดันให้วุฒิสภาเอาด้วยได้)

แม้ถ้าฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธได้ชัยชนะ ก็จะไม่มีทางที่จะบริหารประเทศได้ราบรื่น การมีฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบคอยคานคอยท้วงติง ไหนจะต้องคอยแบ่งปันผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่ต้องงอนง้อพึ่งพาเขา ไหนจะต้องบำรุงเหล่าขุนทหารที่หนุนมาตลอด ไหนจะต้องเอาใจพรรคราชการที่ฉวยโอกาสขยายบทบาทอำนาจในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผลงานคงจะต้องย่ำแย่กว่าห้าปีที่ผ่านมามากมาย

แต่อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศต้องไปต่อ ประชาธิปไตยต้องไปต่อ ผมหวังว่าถึงแม้ประเทศจะชะงักงัน เศรษฐกิจจะกระท่อนกระแท่น แต่เราก็จะค่อยๆใช้ระบอบประชาธิปไตยเรียนรู้ปรับตัวแก้ไขกันไป ผมหวังว่า จะไม่มีกลุ่มคนฉวยโอกาสจากความชะงักงันหันกลับไปเรียกร้องเผด็จการทหารอีก ผมหวังว่า จะไม่เกิดการเผชิญหน้ารุนแรงจนมีการปะทะลุกลามใหญ่โต เพราะทั้งสองสิ่งนี้ คือสิ่งที่จะฉุดประเทศให้ตกต่ำได้ยาวนานอย่างแน่นอน

ประเทศไทยเคยโชคดี ที่ตลอดหกสิบปีที่ผ่านมา จากประเทศที่ยากจนเกือบที่สุดในภูมิภาค (ในปี1960 ไทยมีรายได้ต่อคนต่อปี$101 เขมรมี$111 พม่ามี$180 เวียตนาม$225 ฟิลิปปินส์$250 ) เราพัฒนามาได้ค่อนข้างดี จากระบอบการปกครองที่ถึงบางครั้งเป็นเผด็จการแต่ก็ไม่ยาวนาน มีประชาธิปไตยพอสมควร(แบบครึ่งใบบ้าง แบบบุฟเฟ่ต์บ้าง แบบเผด็จการรัฐสภาบ้าง) ไม่เหมือนพม่ากับฟิลิปปินส์ที่ตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการยาวนาน(เนวินกับมาร์คอส) ไม่เหมือนเวียตนาม เขมร ลาว ที่เกิดสงครามกลางเมืองปฏิวัติถอนรากถอนโคนเปลี่ยนระบอบไปเป็นคอมมิวนิสต์ จนวันนี้เราเลยมีฐานะเป็นอันดับสามในภูมิภาคASEANได้ แซงพวกนั้นได้อย่างไม่เห็นฝุ่น (ปี 2017 ไทยมีรายได้ต่อคนต่อปี$6,595 เขมรมี$1,384 พม่ามี$$1,257 เวียตนาม$2,342 ฟิลิปปินส์$$2,989)

มาบัดนี้ เพื่อนบ้านเขาต่างตื่นรู้เปลี่ยนแปลง ที่เคยเป็นเผด็จการก็หันมาประชาธิปไตย(ฟิลิปปินส์ พม่า แถมอินโดนีเซีย) ที่เคยเป็นคอมฯก็หันมาสมาทานระบบตลาด(เขมร ลาว เวียตนาม) ไทยเรากลับลังเล หยุดชะงักไม่รู้จะเอาอะไรดี จะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยดี จะเอารัฐหรือเอาตลาดดี(ไปอ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติกับแผนปฏิรูปประเทศดูสิครับ ขยายรัฐสุดๆจนจะเป็นสังคมนิยมอยู่แล้ว) ก็ค่อนข้างแน่แหละครับ ที่เพื่อนฝูงเขาจะเติบโตปีละหกเจ็ดเปอร์เซนต์นั้น ของเราไม่มีทาง คงต้องถึงคราวหยุดรอเขาบ้างแล้ว ขอเพียงแค่ชะลอ อย่าถึงกับถดถอยเลย (ถ้าเกิดปะทะ ถดถอยแน่)

ขอสรุปเลยว่า ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา แทบไม่มีScenarioใดๆเลยที่ประเทศไทยจะราบรื่นรุ่งเรืองได้ในระยะสั้น ก็ได้แต่หวังว่าผมคิดผิด และสถานการณ์คลี่คลายไปได้ด้วยดี ในยามนี้ ผมก็คงจะขอพักเรื่องการเมืองไว้ก่อน จะหันไปย้ายการลงทุนออกนอกประเทศเท่าที่กฎหมายอนุญาต(บล.ภัทรมีบริการนะครับ) กับลาไปท่องเที่ยวตามประสาคนแก่ยามเกษียณ


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่