จากกรณีที่หลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ล่าสุด ภาคธุรกิจได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากนโยบายดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา 1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเยอะ 2.ค่าแรงงานคิดเป็น 30% ของต้นทุนรวม มีค่าแรงแฝงในค่าวัสดุ ทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น 3.แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์เพราะ 80% ของแรงงานก่อสร้างเป็นต่างด้าวหมด คนไทยส่วนใหญ่เป็นค่าแรงมีฝีมือ สมมุติ (แรงงานไร้ฝีมือ) กรรมกรขึ้น 100 บาท เป็นวันละ 400 บาท แรงงานฝีมืออาจต้องขึ้นอีก 50-60 บาท
“รัฐบาลใหม่ถ้ารักษาสัจจะก็ควรทำแบบค่อย ๆ ปรับ อย่างน้อยขอให้มีเวลาปรับตัว เพราะรับเหมาก่อสร้างอาคารทำสัญญาล่วงหน้า 18 เดือน ในขณะที่รับเหมางานเอกชนไม่มีค่าเค (ค่าต้นทุนผันแปร) เหมือนกับงานรับเหมาภาครัฐ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเราต้องรับภาระเต็ม ๆ กดดันให้เราจ้างคนน้อยลง ใช้เครื่องจักรทดแทน ผลิตทุกอย่างในโรงงาน ใช้คนลดลง 30% กระทบคนตกงาน หางานยากขึ้น ภาพรวมทุกธุรกิจต้องใช้แรงงานน้อยลง เป็นการทำร้ายผู้ใช้แรงงาน”
ด้านนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400 บาทสูงเกินไป ข้อดีผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้มากขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มันสูงขนาดนี้ เท่ากับเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 หรือสูงขึ้น 33-40% ในแง่ของผู้ประกอบการผมว่ามีช็อกอยู่เหมือนกัน เทียบกับยุคที่ปรับค่าแรง 300 บาท ตอนนั้นในวงการก่อสร้างมีผลกระทบตลาดช็อกไป 6 เดือน เพราะค่าแรงสูงขึ้นทั้งทางตรงกับทางอ้อม
“โดยปกติแล้วค่าแรงขั้นต่ำน่าจะเพิ่มไม่มากกว่าอัตราการเพิ่มของ GDP growth อยู่ที่ 4% กว่า สมมุติค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มปีละ 5% ก็จะสอดคล้องกัน ฝั่งผู้ใช้แรงงานก็อาจจะชอบเพราะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น แต่เขาต้องเจอกับเงินเฟ้อ ราคาสินค้าจะสูงขึ้นทันที เพราะฉะนั้น เบ็ดเสร็จผู้ใช้แรงงานก็ได้ไม่มาก แต่ฝั่งผู้ประกอบการต้นทุนสูงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม สุดท้ายแล้วก็ต้องไปลงที่ราคาสินค้าเพราะไปไหนไม่ได้ ผู้ซื้อบ้านก็ต้องซื้อแพงขึ้น”
นายวงศกรณ์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนค่าแรงอยู่ที่ 30% ของราคาสินค้า ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 1 ใน 3 ต้นทุนค่าก่อสร้างโดยรวมน่าจะเพิ่ม 10-12% แล้วแต่ว่าเป็นอาคารประเภทไหน ถ้าราคาบ้าน 1 ล้านบาท ค่าแรงบวกกันเบ็ดเสร็จ 3 แสนบาท เพราะฉะนั้น ราคาสินค้าน่าจะเพิ่มขึ้นไปที่ 8-9%
ขณะที่นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ตนมีความเห็น 2 ข้อ 1.ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง หลักคือการปรับค่าแรงต้องไม่กระทบกับธุรกิจ 2.อยากให้มีมาตรฐานวิชาชีพฝีมือแรงงาน ถ้าไม่มีมาตรฐานจะไม่เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน
“สมมุติเว่อร์ ๆ ไปเลยค่าแรงขั้นต่ำ 800 บาท จับกังก็ได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรสิ แรงงานไม่ต้องมีฝีมือยังไงก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง นโยบายที่ดีที่สุดให้ธุรกิจอยู่ได้ และแรงงานมีมาตรฐานวิชาชีพด้วย”
ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ