วันที่ 11 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดินแดง นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ พร้อม นายพรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) ทีมทนายความ ตัวแทนมูลนิธิเกษตรยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และไบโอไทย ร่วมกับผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาจากเครือข่าย เข้าพบ นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ กรณีครอบครองกัญชาเพื่อการแพทย์ ในระหว่างรอยื่นคำร้องขอนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
นายเดชา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยเปิดใจถึงจุดยืนของทั้งสองฝ่าย ทาง ปปส.เข้าใจว่าตนไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง แต่ทำให้กับผู้ป่วย ยืนยันว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการตีความหมายต่างกัน สำหรับการจับกุมนายพรชัย ในระหว่างที่ตนเดินทางไปต่างประเทศนั้น เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฎหมาย โดยต่อจากนี้ขอให้มองไปถึงอนาคตว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างไร ท่ามกลางข้อจำกัดของข้อกฎหมายในปัจจุบัน จึงต้องหาทางจดแจ้งและขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านให้ได้ในช่วงขอนิรโทษกรรม
“ทาง ป.ป.ส.ควรสนับสนุน หารือกับทาง สธ.ว่าสามารถช่วยเหลือทางด้านกฎหมายได้อย่างไรบ้าง รัฐบาลจะสามารถนำมาตรา 44 เพื่อเสนอถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเข้าที่ประชุมได้หรือไม่ ต่อจากนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการว่าเห็นชอบอย่างไร ทั้งนี้ ขอขอบคุณทาง ปปส.ที่ยังไม่ดำเนินคดีใดกับตน จากนี้ในการกระทำใดๆ ต่อจากนี้เราจะเปิดเผยกันทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นสัญญาประชาคม ให้ประชาชนตรวจสอบกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงเรื่องเฉพาะกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ต้องรับรู้รับทราบ”
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ทำเอกสารชี้แจงกรณีนายเดชา เพื่อยื่นนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้การยอมรับ จึงเตรียมให้ชาวบ้าน รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลรวบรวมรายชื่อไม่ต่ำกว่า 10 คนเพื่อให้การรับรองนายเดชา เพื่อขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านประกอบการนิรโทษกรรมต่อไป ยืนยันว่าการกระทำของนายเดชา เป็นไปเพื่อศีลธรรมและสิทธิที่ผู้ป่วยควรได้รับ
น.ส.รสนา กล่าวต่อ ทั้งนี้ เราต้องการให้หน่วยงานรัฐชี้แจงว่า ทางมูลนิธิยังสามารถดำเนินโครงการนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพื่อศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลสำหรับต่อยอดการทำงานในอนาคตต่อไป รวมถึงชี้แจงกับผู้ป่วยที่ต้องรับยากัญชาว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีหลังพ้นช่วงนิรโทษกรรม 90 วันไปแล้ว
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิเครือข่ายทั้งสาม ได้รับติดต่อจากคณบดีคณะเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้นายเดชา รวมถึงหมอพื้นบ้านร่วมหารือและศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ต่อไป
ด้านมูลนิธิสุขภาพไทย นำเอกสารเป็นหลักฐานยืนยันว่า นายเดชา เคยเข้าร่วมประชุมในกิจกรรมของโครงการภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 11 มกราคม ปี 2551 และวันที่ 19 มีนาคม ปีเดียวกัน ซึ่งยังมีรายชื่อหมอพื้นบ้านและภาคีเครือข่ายรวมแล้ว 24 คน หนึ่งในนั้นมีตัวแทนจากสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ส่วนยอดผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการต่อสู้ทางคดีของนายพรชัยและนายเดชา ขณะนี้รวมทั้งสิ้น 1,234,919.96 บาท
นายนิยม กล่าวว่า ทาง ป.ป.ส.ได้พูดคุยหารือกับนายเดชา และคณะ เพื่อให้เข้าใจถึงการดำเนินงานของมูลนิธิข้าวขวัญ โดยเข้าใจว่าทางเรามีการตีความข้อกฎหมายต่างกัน ยืนยันว่า ทางเราได้ทำตามขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขขอยื่นเรื่องนิรโทษกรรมผู้ครองกัญชาในกรอบเวลา 90 วัน ส่วนเหตุผลการจับกุมนั้น เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าว หากมีผู้ลักลอบนำกัญชาหลายกิโลกรัม อ้างจะนำไปจดแจ้งเพื่อขอนิรโทษกรรม
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการแทรกแซงทางเราจึงจะปล่อยให้นายเดชาดำเนินการตามขั้นตอนไปก่อน แต่สำหรับประชาชนที่ครอบครองกัญชา ต้องมีแพทย์รับรองและจัดปริมาณให้ตามสัดส่วนและขอให้แจ้งเจตนารมณ์ไปยังคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และสาธารณสุขจังหวัด ตามภูมิภาค ว่ามีไว้เพื่อการใด ในห้วงเวลา 90 วันเพื่อขอนิรโทษกรรม ไม่เช่นนั้นก็จะถือว่าผิดกฎหมาย
นายนิยม กล่าวว่า สำหรับเรื่องของกลางที่ยึดมาและคดีความนั้น ขอเป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต่อไป ยืนยันว่า ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับนายเดชา ทั้งสิ้น
ขอบคุณข่าว : มติชน