หน้าแรก news สมบัติสาธารณะ ! 3 มหา’ลัย ดัน น้ำมันกัญชา “อ.เดชา” เข้าแผนวิจัย หวังผลักดันเป็นยา ปชช.เข้าถึงได้

สมบัติสาธารณะ ! 3 มหา’ลัย ดัน น้ำมันกัญชา “อ.เดชา” เข้าแผนวิจัย หวังผลักดันเป็นยา ปชช.เข้าถึงได้

0
สมบัติสาธารณะ ! 3 มหา’ลัย ดัน น้ำมันกัญชา “อ.เดชา” เข้าแผนวิจัย หวังผลักดันเป็นยา ปชช.เข้าถึงได้
Sharing

ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมหารือเครือข่ายกัญชา เพื่อหารือการสร้างเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์จากกรณีน้ำมันกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี โดยมีนักวิชาการ และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวภายหลังการหารือว่า ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัยน้ำมันกัญชาของ อาจารย์เดชา โดยจะยื่นขออนุมัติโครงการจาก อย.ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้  และขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์แผนไทยฯ พิจารณาให้น้ำมันกัญชาสูตรตำรับ อ.เดชา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม สำหรับการผลิตน้ำมันกัญชาจะดำเนินการขอของกลางจาก ป.ป.ส. และจะประสานของบฯสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยความรู้ที่เกิดจากการวิจัยนี้จะมอบให้เป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนในอนาคตจะเดินหน้าวิจัยองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสายพันธุ์กัญชา และสารออกฤทธิ์กัญชา

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์เดชานั้น จะมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นตอนแรกจะพิจารณาว่าอาจารย์เดชาเป็นหมอพื้นบ้านหรือไม่ ซึ่งภูมิลำเนาของอาจารย์เดชา อยู่จ.สุพรรณบุรี การยื่นขอเป็นหมอพื้นบ้าน จึงต้องผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)สุพรรรณบุรี เมื่อผ่านเกณฑ์ 8 ข้อ ทางสสจ.สุพรรณบุรีก็จะเสนอมาให้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯพิจารณารับรอง ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 1 สัปดาห์  2.ขั้นตอนต่อมากรณีที่อาจารย์เดชา ผ่านการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว หากต้องการใช้กัญชารักษาโรค จะต้องเข้ารับการอบรมกับทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29-30 เมษายนนี้ ซึ่งเปิดอบรมภาพรวมสำหรับหมอพื้นบ้านที่ต้องการใช้กัญชารักษาโรค หากกรณีนี้ผ่านขั้นตอนการอบรม ทางกรมฯ ก็จะส่งชื่อหมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชารักษาโรคให้ทาง อย.พิจารณาอนุญาต คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์

“3. ขั้นตอนนี้คือ กรณีน้ำมันกัญชาสูตรของอาจารย์เดชา ซึ่งเป็นสูตรที่ไม่ได้อยู่ใน 16 ตำรับที่กรมการแพทย์แผนไทยฯรับรอง จึงต้องนำสูตรดังกล่าวมาเสนอให้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯพิจารณา ซึ่งจะมีคณะกรรมการฯพิจารณาว่า เข้าข่ายเป็นสูตรภูมิปัญญาดั้งเดิมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ตามข้อกำหนดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ไม่ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ หลอดทดลอง แต่ให้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ได้ แต่ต้องอยู่ในรูปของโครงการวิจัย ซึ่งจะสามารถมีผู้ป่วยใช้สูตรยาดังกล่าวได้ทันที เรียกว่าเป็นผู้ป่วยในโครงการวิจัยนั่นเอง แต่ทั้งหมดต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการก่อน และต้องผ่านคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ หากในขั้นตอนของการพิจารณาน้ำมันกัญชาดังกล่าว เป็นสูตรภูมิปัญญาดั้งเดิมหรือไม่นั้น น่าจะใช้เวลาประมาณ 2สัปดาห์ แต่ถ้าภาพรวมทั้งหมดว่าจะผลิตออกมาได้เมื่อไหร่ คงต้องเร็วที่สุด แต่ก็ต้องยึดตามขั้นตอนต่างๆด้วย” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

นายวชิระ อำพนธ์  ที่ปรึกษา อย. กล่าวว่า   ในเรื่องของการผลิตเป็นน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยนั้น จะต้องมีความร่วมมือทำเป็นโครงการวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง สามารถขออนุญาตมายังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาเห็นชอบโครงการก่อ เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆได้ ซึ่งคณะกรรมการฯจะมีการประชุมประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยแล้ว สิ่งที่กังวลคือ หลังจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 จะพ้นกำหนดการนิรโทษครอบครองกัญชา 90 วัน ซึ่งหลังจากนี้ยังกังวลว่า จะมีกัญชามาผลิตเป็นยาให้ผู้ป่วยทันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีคนมาแจ้งการครอบครองกัญชากับทาง อย.กว่าพันคน แต่จากที่พูดคุยกับเครือข่ายต่างๆ พบว่า ตัวเลขของผู้ที่แอบใช้กัญชาอยู่ใต้ดินประมาณ 8 แสนคนไปจนถึง 2 ล้านคน  ตรงนี้ทำให้ชัดเจนว่า แม้มีกฎหมายออกมาก็ยังมีคนแอบใช้อยู่ดี ดังนั้น ต้องมาวิเคราะห์ว่า เพราะอะไรประชาชนถึงไม่มาขึ้นทะเบียน  สิ่งสำคัญรัฐต้องไปแก้กฎหมายให้ผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงกัญชารักษาโรคได้ในระหว่างที่รัฐยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะพ้นกำหนดการนิโทษครอบครองกัญชา ปัญหาคือ ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาจะทำอย่างไร เมื่อไม่พอใช้ หรือหาไม่ได้ เพราะเชื่อว่ารัฐไม่สามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้เพียงพอ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ทางผู้ป่วยทุกคนต้องเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการรักษา  ต้องออกมาช่วยกัน ขณะเดียวกัน ต้องเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ใต้ดิน หรือผู้ที่มีความรู้ในการใช้กัญชารักษาโรคที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน เพื่อให้พวกเขามาช่วยเหลือกันในการใช้กัญชารักษาโรค เนื่องจากอย่าลืมว่า พวกเขามีองค์ความรู้ตรงจุดนี้ โดยต้องให้มาช่วยหรือเสริมทัพกับทางหมอแผนปัจจุบันที่จะอบรมการใช้กัญชารักษาโรคจำนวน 200 คนที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย เพราะถ้าแค่หมอแผนปัจจุบันฝ่ายเดียวไม่มีทางเพียงพอ

“ทางออกคือ ต้องมีองค์กรกลาง หรือหน่วยงานกลางเป็นผู้ประสานกลุ่มคนใต้ดินเหล่านี้ เพื่อให้ขึ้นมา และให้พวกเขามั่นใจว่า จะไม่มีโทษ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาให้ได้ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายก็จะเกิดการใช้แบบแอบๆซ่อนๆ อีกเช่นเดิม จึงต้องรีบเตรียมพร้อมก่อนจะพ้นกำหนด 90 วันนิรโทษครอบครองกัญชาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายเดชา กล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ทุกอย่างต้องหยุดหมด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คนที่รับยาอยู่ โดยหยุดให้น้ำมันกัญชาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ให้ตนทำอะไรก็ทำหมด เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำน้ำมันกัญชาก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ผู้ป่วยและจดบันทึกว่า อาการอะไรดีขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไมเกรน ปวดเนื้อปวดตัว ภูมิคุ้มกันดีขึ้น หรือการดูแลดวงตา เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าของกลางที่ทาง ป.ป.ส.ยึดไปสามารถนำมาใช้ผลิตได้หรือไม่ เพราะเห็นว่า ป.ป.ส.ให้สามารถทำหนังสือขอได้ในกรณีการวิจัย นายเดชา กล่าวว่า ถ้าเป็นของมูลนิธิข้าวขวัญ คงไม่ได้ เพราะเป็นต้นกัญชา ซึ่งยังไม่สามารถนำมาใช้ทำเป็นยาได้ หากจะทำต้องปลูกใหม่ หรืออาจนำของกลางที่มีอยู่มาตรวจก่อนว่า มีสารอะไรปนเปื้อนหรือไม่ หากไม่มีก็เข้าสู่กระบวนการวิจัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีเงินบริจาคที่ทางมูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และลนิธิสุขภาพไทย ได้เปิดบริจาคเพื่อช่วยทางคดีต่ออาจารย์เดชานั้น ขณะนี้ได้ปิดบัญชีและได้มอบให้อาจารย์เดชา เป็นจำนวนเงิน 1,299,893.76 บาท

ขอบคุณข่าว : มติชน

ขอบคุณภาพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่