หลังการเลือกตั้ง 2562 ปัญหา “รัฐสภาใหม่” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อปรากฏภาพประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำตัวแทนพรรคการเมืองและคณะ ไปตรวจความพร้อมห้องประชุมทีโอที อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด ที่จะใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
ทำให้อารมณ์ของคนในสังคมพุ่งเป้าไปยังความล่าช้าของ “สัปปายะสภาสถาน” รัฐสภาใหม่ของไทย และเริ่มควานหาหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ว่าควรเป็นผู้รับเหมา คนออกแบบ บริษัทควบคุมงาน ที่ปรึกษาโครงการ หรือ “รัฐสภา” ภายใต้มโนทัศน์ว่ายิ่งเรื่องใดซับซ้อน เรื่องใดที่เกี่ยวกับ “การเมือง” ยิ่งดราม่า! โดยลืมไปว่า การกล่าวหาทั้งที่ยังไม่ทราบเหตุผลและที่มาที่ไปอย่างแท้จริง อาจเข้าข่ายบิดเบือนและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึง “ตนเอง” ในอนาคต ดังนั้น กรณี “รัฐสภาใหม่” ต้องดูตั้งแต่ “ต้นน้ำ” จนถึง “ปลายน้ำ”
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ เปิดเผยภายหลังมีข่าวว่า บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้รับผลประโยชน์มหาศาล จากการต่อสัญญาสร้างรัฐสภา ที่นักการเมืองบางคน และบางสำนักข่าวนำไปขยายความอ้างวงใน คนใกล้ชิด ว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของเมืองไทย กำลังใช้สภาใหม่ หาเงินเข้าบางพรรคการเมือง ที่มีความโยงใยกับขั้วรัฐบาล
นายภาคภูมิ กล่าวว่า บริษัทรับงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ปี 2556 เป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 11 ชั้นพื้นที่ 400,000 ตารางเมตร มีระยะเวลาก่อสร้างรวม 900 วัน แต่ที่ผ่านมาการก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ปัญหาอยู่ที่ “การส่งมอบพื้นที่ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา” ไม่เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้ จากเดิมต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดปี 2557 แต่เลื่อนมาเป็นปี 2559 หรือล่าช้ากว่ากำหนดนานเกินกว่า 2 ปี จากสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาใหม่ รวมทั้งได้เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารบางส่วนให้แล้วเสร็จเพื่อให้ข้าราชการและสมาชิกสภาได้เข้ามาทำงาน
“บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาการก่อสร้างจะไม่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าอีกแม้จะไม่มีกำไร ทั้งนี้จากการประเมิน บริษัท ซิโน-ไทยฯขาดทุนจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการมูลค่าประมาน 3,000 ล้านบาท ตรงนี้คงมีการหารือกับทางรัฐสภาว่าจะชดเชยให้บริษัทได้มากแค่ไหน”
สำหรับปัญหาการติดตั้งระบบไอซีที ที่ประเมินงบประมาณแล้วทะลุหลัก 8 พันล้านบาท และสังคมกำลังจับตามองในเรื่องมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ นายภาคภูมิระบุว่า บริษัท ซิโน-ไทย ไม่ได้เข้าไปมีส่วนกับการก่อสร้าง เช่นเดียวกับงานก่อสร้างพื้นที่จอดรถที่มีข่าวว่าปรับแบบลดสเป็ก ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ บริษัท ซิโน-ไทยฯ
“ขอยืนยันว่าบริษัท ซิโน-ไทยฯ เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลในการบริหาร นอกจากนั้นการฟอกเงินจากโครงการที่มีมูลค่าเพียง 8,000 กว่าล้านบาท ให้กลายเป็นเงินจำนวน 40,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนที่โจมตีเรื่องนี้มาจากการมโนหรือคิดเอาเองโดยไม่สุจริตใจและหวังผลทางการเมือง โดยไม่ยึดหลักความเป็นจริงแต่อย่างใด หากพบว่ามีผลกระทบกับบริษัท จะมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย”
ผู้บริหารของ ซิโน-ไทยฯ พยายามออกมาให้ข่าวทำความเข้าใจกับสังคมมาโดยตลอด เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการทำงานของบริษัท เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่ต้องออกมาทำความเข้าใจกับสังคม
“บริษัทถือคติเอากล่องไม่เอาเงิน เอาศักดิ์ศรี เอาความภาคภูมิใจ จะได้เขียนลงในประวัติบริษัทว่าเคยก่อสร้างรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ ด้วยเกียรติของผม ของคุณพ่อผม มีเกียรติเพียงพอที่จะรับประกันว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มีความโปร่งใส ทุกท่านสามารถเข้าไปนั่งในสภาแห่งใหม่ได้ สะอาดแน่นอน ไม่มีสิ่งใดต้องกังวล” นี่คือถ้อยคำของนายอนุทินที่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้
แน่นอนว่าการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินจากภาษีประชาชนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่ไม่ว่าโครงการนี้จะมีผู้มากบารมี “เกี่ยวข้อง” ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เกิดอาการแตกตื่นทางสังคมหรือไม่ก็ตาม เราอย่าลืมข้อเท็จจริงว่ากระบวนการ “ต้นน้ำ” ของโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ รวมถึงปัญหาการส่งมอบที่ดินล่าช้า ฯลฯ นั้น หน่วยงาน “เอกชน” บางหน่วยงานก็ “มิได้เกี่ยวข้อง” ด้วยแต่ประการใด หนำซ้ำ ยังต้องร่วมรับผิดชอบกับผลลัพธ์ “ปลายน้ำ” ที่เกิดขึ้นอีกด้วย
Ringsideการเมือง
หมายเหตุ : นายภาคภูมิ ศรีชำนิ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Ringsideการเมือง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561