นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมมีมติสั่งไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ของพรรคประชาชาติ จำนวน 6 คน เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน จึงขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนที่ผู้สมัครทั้ง 6 คนได้รับ ไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม ม.128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยในชั้นนี้ยังไม่พิจารณาเรื่องของการระงับสิทธิสมัครชั่วคราว 1 ปี หรือใบส้ม เพราะต้องดูที่ข้อเท็จจริง หากตรวจสอบแล้วพบว่ารู้ทั้งรู้ว่าเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนแต่ยังลงสมัครก็จะเข้าข่าย ม.53 วรรค 3 และ ม.138 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ต้องส่งเรื่องไปศาลฎีกาฯพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัคร หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับผู้สมัครทั้ง 6 คน ประกอบด้วย นางทัศนีย์ ชลายนเดชะ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 เขตเลือกตั้งที่ 15 กรุงเทพมหานคร, นายวิโรจน์ วัฒนากลาง พรรคประชาชาติ หมายเลข 5 เขตเลือกตั้งที่ 6 จ.นครราชสีมา, นายอิทธิศักดิ์ ปาทาน พรรคประชาชาติ หมายเลข 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 จ.บุรีรัมย์, นายเกริกชัย พลชา พรรคประชาชาติ หมายเลข 23 เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.บึงกาฬ, นายประหยัด พิมพา พรรคประชาชาติ หมายเลข 14 เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.อุดรธานี และ นายอฤเดช แพงอะมะ พรรคประชาชาติ หมายเลข 25 เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.อุดรธานี
อย่างไรก็ตาม การสั่งไม่ให้เป็นผู้สมัครดังกล่าวไม่มีผลทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคประชาชาติ ลดลง เพราะไม่ได้มีการตัดสิทธิ์ว่าที่ ส.ส.เขตของพรรค จำนวน 6 คน ขณะที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคไม่ได้รับการจัดสรรอยู่แล้ว เนื่องจากได้ ส.ส.เขตเท่ากับจำนวนพึงได้แล้ว แต่การถูกตัดคะแนนดังกล่าวจะมีผลกับคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะนำมาใช้ในการคำนวณจัดสรร ส.ส.ให้กับพรรคการเมือง โดยจะทำให้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้สมัคร ทั้ง 6 คน มีคะแนนรวมกัน 3,520 คะแนน