นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก “เสรี สุวรรณภานนท์” ถึงความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของหลายพรรคการเมือง ในหัวข้อ “รัฐบาลที่มี ส.ส.เสียงข้างน้อยสนับสนุน จะอยู่ได้หรือไม่ ?” ระบุว่า
มันคงเป็นความเคยชินที่เข้าใจและเชื่อกันมาโดยตลอดว่า รัฐบาลจะมีเสถียรภาพได้ จะต้องมีคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เพราะจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
และรัฐบาลเองก็จะต้องมี ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ คอยปกป้องคุ้มครองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการทุจริต คอรัปชั่น ทำผิดกฎหมาย หรือ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
จึงจำเป็นต้องมีเสียงของ ส.ส.จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งสนับสนุนในฝ่ายรัฐบาล เพื่อเป็นการคุ้มครองรัฐบาลให้อยู่รอดปลอดภัย ทั้งๆที่มีการทุจริต คอรัปชั่นอย่างเห็นๆ แต่ด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรปกป้อง จึงลงมติไว้วางใจทั้งๆที่ขัดสายตาประชาชน อันทำให้รัฐบาลที่โกงกินอยู่ต่อไปได้ หรือเรียกแบบเพราะพริ้งว่า ทำให้รัฐบาล “มีเสถียรภาพ”
จึงเป็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ในปัจจุบัน ได้บัญญัติให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นั้นใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา (คือ ส.ส.และส.ว.รวมกัน) คือต้องให้ได้เสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง ซึ่งในเสียงของ ส.ส. อาจไม่ถึงจำนวน 250 เสียงก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เท่ากับเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร
การที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่โกงกิน ทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้เสียง ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งมาคอยปกป้องคุ้มครอง
ดังนั้น หากใช้เสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรในการโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็จะใช้เสียงเพียง 126 เสียงขึ้นไปเมื่อรวมเสียงของ ส.ว. จำนวน 250 เสียง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 376 เสียง ก็สามารถโหวดเลือกนายกรัฐมนตรีได้
เท่ากับว่า การจัดตั้งรัฐบาลนี้ มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน ก็ยังสามารถตั้งรัฐบาลได้ อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่หากรัฐบาลมีเสียงในสภาจำนวนน้อยก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ส่วนเมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้ว รัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับตัวรัฐบาลเองที่จะต้องไม่ทุจริตคอรัปชั่น หรือไม่ไปทำอะไรที่ผิด ๆ ต่อกฎหมาย และยังต้องขยันทำงานให้หนักขึ้นก็จะไม่มีใครมาเล่นงานรัฐบาลได้
ส่วนมีคนห่วงว่าในการออกกฎหมายต่างๆ หาก ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็เกรงว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้และจะต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น
ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันที่ได้เสนอให้ สนช.ผ่านกฎหมายออกมาใช้ 400-500 ฉบับ ก็เป็นการมากมายเพียงพอแก่การนำมาบริหารประเทศได้
แต่หากฝ่าย ส.ส.ไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดออกมาใช้ได้ การที่ ส.ส.ไม่สนับสนุนหรือไม่ร่วมมือในการไม่ออกกฎหมายนั้น ก็ไม่ถึงขนาดทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้
แต่ไม่ว่าอย่างใด หากกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่าง พรบ.ดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พรบ.ดังกล่าวข้างต้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่าง พรบ.นั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาภายใน 20 วัน ซึ่งหากวุฒิสภาเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรา 81 ต่อไป
ซึ่งว่าไปแล้ว ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับการงบประมาณทั้งสามฉบับข้างต้น ก็มิได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้เช่นกัน
และไม่ว่าด้วยเหตุใด หาก พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ตาม รธน.มาตรา 141 ก็ได้บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน ตาม รธน.มาตรา 141 ดังกล่าว
ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณข้างต้น รัฐธรรมนูญ มีเจตนให้ ส.ส. และ ส.ว. ช่วยกันพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อที่้รัฐบาลจะได้นำไปใช้ โดยต้องร่วมกันพิจารณาและดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ มิได้ให้มีมติไม่เห็นชอบในการไม่ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณดังกล่าว กรณี จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในเรื่องของการขอเปิดอภิภายไม่ไว้วางใจนั้น หากรัฐบาลมีเสียงข้างน้อยของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้รัฐบาลถูกตรวจสอบที่เข้มข้น รัฐบาลหรือรัฐมนตรีจะต้องไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง รวมทั้ง ต้องปฏิบัติงานทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือบริหารประเทศอย่างเต็มที่ อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ซึ่งดีกว่าที่มีเสียง ส.ส. ข้างมากที่คอยปกป้องรัฐมนตรีที่กระทำการทุจริต หรือกระทำความผิดเหมือนที่ผ่านๆมา
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรี ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ไม่แสวงประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง แต่หาก ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนมากกว่ากลั่นแกล้งมีมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ก็จะต้องมีกระบวนการให้ได้นายกรัฐมนตรีใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งหมายความว่า นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่ถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจโดยถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ได้ทำอะไรผิดดังกล่าว เมื่อนายกคนนั้น คงเป็นบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคการเมือง นายกคนเดิมที่ถูกกลั่นแกล้วนั้นก็มีสิทธิได้รับการพิจารณาจากสมาชิกรัฐสภาให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก และสมาชิกวุฒิสภาก็มีสิทธิในการลงคะแนนโหวตเลือกให้นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่ไม่ได้ทำอะไรผิดดังกล่าวกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกได้
หากพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และประเทศชาติยังคงมีปัญหาที่แก้ไม่ตกจริง ๆ นายกรัฐมนตรีก็คงต้องใช้วิธีการสุดท้าย คือการยุบสภาผู้แทนราษฎร คืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งกันใหม่ คนที่เคยได้เลือกตั้งกันเข้ามาแล้ว ไม่รู้ว่าคราวหน้าจะได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกหรือไม่ ก็ต้องไปวัดฝีมือกันเอง
แต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรขอให้เป็นวิธีการสุดท้ายจริงๆ
“โดยสรุปแล้ว ประเทศย่อมมีทางออก แต่เมื่อจำเป็นจะต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ต้องทำ ซึ่งผมเชื่อว่า ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 2560 สามารถทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ได้” นายเสรีระบุในตอนท้าย