พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในระยะเร่งด่วน โดยให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจและจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค ประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้าน ตรวจสอบปริมาณน้ำดิบต้นทุนหากพบว่าจุดใดเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและไม่สามารถผลิตหรือแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ รวมทั้งเครื่องจักรกลของ อปท. ภาคเอกชน และหน่วยทหาร เพื่อจัดรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพิ่มปริมาณน้ำดิบในการผลิตเป็นน้ำประปาให้เพียงพอและแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน รวมทั้งบรรจุในภาชนะเก็บกักน้ำกลางประจำหมู่บ้าน
ส่วนการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือกับประชาชน หากพื้นที่ใดประสบความเสียหายจากกรณีภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน และถ้าเป็นความเสียหายด้านการเกษตร ให้จำแนกความเสียหายเป็นพื้นที่ประเภท เช่น นาข้าว พืชสวน พืชไร่ หากพื้นที่ใดมีข้อจำกัดวงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอ ให้รายงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากกรณีภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง สามารถติดต่อแจ้งสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยธรรมชาติ มีดังนี้
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
• มาตรการที่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ สาขาที่ขึ้นทะเบียนไว้ได้ตามปกติ
>> สินเชื่อเงินด่วน ให้กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR 7% เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตเพาะปลูกพืชระยะสั้น และทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
>> สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ให้กู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับ 5% ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 15 ปี
>> สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ
• มาตรการที่ปิดรับสมัครแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการติดตามศักยภาพของเกษตรกร
>> ปรับโครงสร้างและตารางชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตามแนวทางเกษตรประชารัฐ โดยพักชำระเงินต้นให้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 61 – 31 ก.ค. 64 รวมถึงเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสามารถขอขยายเวลาปรับตารางชำระ พักหนี้ได้ 1 รอบปีการผลิต
• มาตรการที่ร่วมกับท้องถิ่นดำเนินการ
>> จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝายมีชีวิต เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพภาคการเกษตร 6,100 ฝาย เป็นโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• มาตรการเยียวยาความเสียหายแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
>> กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
>> กรมการข้าวเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์ข้าวจ้าวสำรองไว้แล้วจำนวน 10,000 ตัน
>> พิจารณาให้เกษตรกรปลอดการชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมถึงเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ สามารถขอขยายเวลาปรับตารางชำระหนี้ได้ 1 รอบปีการผลิต
• มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งโดยปฏิบัติการฝนหลวง ร่วมกับกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพอากาศ