(8 ส.ค.62) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐบาล ในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
“นายกฯ ไม่สามารถการอ้างส่วนงานอื่นในการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ”
มีคนส่งบทความเปลวสีเงิน ที่เขียนเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยระบุ 2 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง ระบุว่า
“เมื่อนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงมีพระราชดำรัสตอบแล้ว”
ถามว่า การที่ทรงมีพระราชดำรัสตอบดังกล่าว เป็นการทำให้การถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งผิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น กลับกลายเป็นถูกต้อง ได้หรือไม่?
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ
เนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น เป็นกรรมที่ผู้กระทำไม่ปฏิบัติตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ เป็นเรื่องที่ชัดเจน
ส่วนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณามีพระราชดำรัสตอบ อวยชัยให้พร นั้น เป็นกรรมที่สอง แยกจากกัน
ความรับผิดชอบต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น เป็นของพล.อ.ประยุทธ์แต่ผู้เดียว ในฐานะผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง ระบุว่า
“ถ้อยคำถวายสัตย์ฯ นั้น ทางสำนักพระราชวัง ได้ตรวจทานเรียบร้อยแล้ว ก่อนนายกฯ นำไปกล่าวถ้อยคำ”
การระบุเช่นนี้ เข้าข่ายพยายามอ้างการทำงานของสำนักพระราชวังเพื่อคุ้มครองพล.อ.ประยุทธ์
ประเด็นนี้ ทำนองเดียวกับเมื่อ วันที่ 5 ส.ค. ที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อความที่พูดไป เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ
อันเป็นการตีความพระปฐมบรมราชโองการให้เข้ากับสิ่งที่ตนพูด
ผมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 บัญญัติดังนี้
“มาตรา ๑๖๑ ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี
ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””
ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ คือรัฐมนตรีแต่ละคน โดยพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้กล่าวนำ
และมิได้อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำไปตามส่วนราชการใด
รวมทั้งมิได้อนุญาตให้อัญเชิญพระปฐมบรมราชโองการมาตีความ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงถ้อยคำตรงไหน
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำอย่างเดียว ไม่ได้อนุญาตให้คิด ไม่ได้อนุญาตให้ถาม
จนป่านนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดอย่างไร ที่ตัดสินใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นในสมัยของท่านเอง
วันที่ 8 สิงหาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ