วันนี้ (15 ส.ค.2562) เวลา 15.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2562
โดยคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมหารือประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับนักธุรกิจสหรัฐฯ และผู้บริหารของ USABC ประกอบด้วย 47 บริษัทจาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ (1) พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน (2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (3) สุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ (4) อาหารและการเกษตร (5) การผลิต และ (6) บริการทางการเงิน (7) การท่องเที่ยว อาทิ บริษัท Amazon , Apple, ConocoPhillips, FedEx, Harley-Davidson, Johnson & Johnson, Marriott International, Mastercard, Netflix, Paypal และ Stripes เป็นต้น
นายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับคณะนักธุรกิจ USABC โดยปีนี้เป็นปีที่ 14 ที่ USABC นำคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เดินทางเยือนไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความสำคัญของไทยต่อสหรัฐฯ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีพลวัตเชิงบวกต่อเนื่องทั้งด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยได้ออก/ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งดำเนินการตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การดำเนินการของรัฐบาลก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมเห็นได้จากการจัดอันดับประเทศไทยโดยสถาบันต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ไม่ลืมที่จะดูแลประชาชนให้ทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยมุ่งเน้นต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 + 2 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ภาคการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์และอากาศยาน เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
ด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย โดย BOI ได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ (1) มาตรการเพื่อการยกระดับประสิทธิภาพในการแข่งขัน (2) มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้รัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุนของบริษัทต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC เนื่องจากมีฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว สามารถเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายคมนาคมทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการรองรับการลงทุนและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย นายกรัฐมนตรีจึงขอเชิญชวนให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในพื้นที่ EEC ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ
สำหรับบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยจะดำเนินการตามแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน หรือ Advancing Partnership for Sustainability”โดยให้ความสำคัญหลักกับประเด็นความเชื่อมโยง การพัฒนาขีดความสามารถให้กับกลุ่ม SMEs และการผลักดันให้การเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ให้สำเร็จลุล่วงภายในปีนี้
ประธาน USABC แสดงความขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์และแจ้งถึงแนวนโยบายเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพด้านเศรษฐกิจและมองเห็นโอกาสการลงทุนในไทย โดยการเยือนไทยครั้งนี้นอกจาก USABC จะได้พบผู้บริหารระดับสูงแล้วจะได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการ EEC เพื่อแสวงหาการลงทุนและความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มเติม นอกจากนี้ประธาน USABC ยังเชื่อมั่นว่าการเป็นประธานอาเซียนของไทยจะสามารถผลักดันอาเซียนให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
โอกาสนี้ตัวแทนจากภาคเอกชนทั้ง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวยืนยันความพร้อมที่จะขยายการลงทุนที่สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 และยินดีส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้พร้อมรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางพลังงาน การลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมด้านสาธารณสุขเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือการยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณ USABC และนักธุรกิจสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยกล่าวว่าสหรัฐฯ ถือเป็น “Friends of Thailand” ที่สำคัญ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน หากมีสิ่งใดที่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันได้ รัฐบาลยินดีรับฟังและให้ความร่วมมือ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศต่อไป