นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีลับหลัง พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีบงการสั่งธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบ ชี้พยานโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าซุปเปอร์บอสคือนายทักษิณ สั่งการให้จำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ ว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง สะท้อนว่า การกล่าวหานายทักษิณเป็นซุปเปอร์บอสในคดีเงินกู้กรุงไทย เป็นความเท็จและไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อยมาโดยตลอด ส่วนซุปเปอร์บอสจะเป็นผู้ใด หรือมีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการสองคนในขณะนั้นน่าจะมีคำตอบ การที่นายอุตตม เข้าร่วมการประชุมโดยไม่ได้มีการแสดงความเห็นคัดค้าน แต่ชื่อของนายอุตตมกลับไม่ถูกฟ้อง ต้องออกมาชี้แจงกับสังคมด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีคุณสมบัติที่ขัดต่อการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องดูแลการเงินการคลังของประเทศ ต้องกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย สถาบันทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หากยังมีเรื่องราวที่สังคมอาจยังไม่ไว้วางใจเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลในที่สุด
“ที่ผ่านมาแม้นายอุตตม จะได้ชี้แจงผ่านสภาบ้าง แต่ประชาชนบางส่วนยังรู้สึกว่าคำอธิบายยังไม่ชัดเจน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน จะดำเนินการตรวจสอบนายอุตตมต่อไปตามรูปแบบที่กฎหมายเอื้อให้ดำเนินการได้” นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความลงในทวีตเตอร์ระบุว่า “รับผิดชอบไง? ถ้าจำไม่ผิด อุตตม อภิปรายแก้ตัวในสภา และ พาดพิงถึงคนที่อยู่ต่างประเทศว่าหนีคดีกรุงไทย วันนี้ศาลตัดสินแล้วว่ายกฟ้อง อุตตม จะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้ใครเป็นคนให้การว่าบิ๊กบอสคือใคร น่าจะพอทราบกัน ประเด็นคดีกรุงไทยนี้จึงกลับมาหลอกหลอนนายอุตตมใหม่ #คดีกรุงไทยตามหลอนอุตตม”
ด้านนายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ยกฟ้องดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าคำพิพากษาไม่ให้น้ำหนักกับพยานบอกเล่า ซึ่งตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือคตส. ได้สรุปว่าเป็นพยานบอกเล่า โดยเฉพาะนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการที่มีส่วนร่วมอนุมัติสินเชื่อ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ซึ่ง คตส.เองก็ยืนยันว่าเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็อ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้พยานหลักฐาน เพื่อนำไปสู่การตั้งข้อหา ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นจำเลยที่ 1
ซึ่งตามหลักของการพิจารณาคดี ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานที่มีความมั่นคง โดยปราศจากข้อสงสัยในการจะลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งบุคคลที่ไปเป็นพยาน เบิกความในทิศทางว่าไม่ได้มีบุคคลใดสั่งการหรือร้องขอเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งพยานหลักฐานมีความชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับบิ๊กบอส ซึ่งเมื่อได้ศึกษาคำพิพากษาและพยานหลักฐานจะพบว่าการดำเนินการของ คตส.ยังน่าแคลงใจในหลายประการ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ธนาคารกรุงเทพฯ จึงยอมรับชำระหนี้เพียง 4,500 ล้าน จนเป็นที่มาของ กลุ่มกฤษดานคร ซึ่งได้รับ การอนุมัติสินเชื่อกว่า 8 พันล้าน นำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ผิดวัตถุประสงค์