หน้าแรก news “สธ.” ย้ำ ประกาศ ปลดล็อก THC-CBD เป็นจุดเริ่มต้น ให้กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ

“สธ.” ย้ำ ประกาศ ปลดล็อก THC-CBD เป็นจุดเริ่มต้น ให้กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ

0
“สธ.” ย้ำ ประกาศ ปลดล็อก THC-CBD เป็นจุดเริ่มต้น ให้กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ
Sharing

ที่สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การแถลงข่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันเจตนารมย์ปลดล็อกสารสกัดกัญชา และกัญชง เพื่อประโยชน์ชาติ นำโดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์วรจิตร อธิบดีกรมสุขภาพจิต และภาคประชาชนเข้าร่วม อาทิ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการ และเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต, ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นพ.สุขุม กล่าวว่า ประกาศที่ออกมานั้น เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาให้กัญชา และกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าทำไมต้องกำหนดค่าสาร Thc และ Cbd อย่างละเอียด ซึ่งอาจเป็นการกีดกันพืชกัญชาพันธุ์ไทย กระทรวงสาธารณสุข ก็พร้อมรับฟัง และแก้ไขกฎกรอบ

ด้าน นพ.ธเรศ เปิดเผยว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของกัญชาและกัญชงซึ่งแม้จะเป็นพืชที่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ 

แต่เนื่องจากในพืชทั้งสองชนิด มีสารสำคัญคือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์แต่ก็มีฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดผลต่อจิตและประสาท และสารแคนนาบิไดออลหรือ CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์มากแต่ไม่มีผลต่อจิตและประสาท จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดคุณสมบัติเพื่อการใช้ประโยชน์

“ในการยกเว้นการควบคุมสารสกัดกัญชาและกัญชง และบางส่วนของพืชกัญชงให้ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เจตนาเพื่อให้มีการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา สมุนไพร อาหาร หรือเครื่องสำอางค์ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ

โดยมีการยกเว้นสาร CBD บริสุทธิ์ (THC ไม่เกิน 0.01 %) เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ในการเสพติด วัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นสารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

และยกเว้นสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา กัญชงที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลักและมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งจัดเป็นยาหรือสมุนไพร เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ และน้ำมันจากเมล็ดกัญชงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางค์ได้

ทั้งนี้ขอเน้นว่าเรามีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาให้พืชกัญชาและพืชกัญชงเป็นพืชที่สร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประชาชนและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมจากสมุนไพรไทยไปพร้อมกับการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานอย่างถ้วนหน้า และหากประกาศฉบับนี้ มีปัญหาอย่างไร ก็พร้อมปรับปรังพัฒนาให้ดีขึ้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดเพิ่มเงื่อนไขสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ลำดับที่ 1 คือ กัญชา และลำดับที่ 5 คือ กัญชง โดยมีเงื่อนไขการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของกัญชาและกัญชง คือ

1.แคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ที่สกัดจากกัญชาซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 99 โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก

2.สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบหลักและมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เท่านั้น

ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปี แรกนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ (วันที่ 27 สิงหาคม 2562) การยกเว้นให้ใช้บังคับเฉพาะการผลิตในประเทศของผู้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ

ฉบับที่ 2 คือ ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดลักษณะกัญชงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการผลิต การนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์กัญชง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่