นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” มีเนื้อหาดังนี้
เนื่องจากสังคมไทยเผชิญกับวิกฤติความขัดแย้ง แตกแยกทางการเมืองมายาวนาน อันเนื่องมาจากความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในช่วงหนึ่งถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง จนเกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนหนึ่ง ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งยังถูกจับกุมคุมขัง และผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี โดยศาลสถิตยุติธรรม
นี่เป็นสภาพความร้าวฉานที่บั่นทอนวิถีชีวิตอันสุขสงบของสังคมไทย อันส่งผลกระทบกระเทือนถึงการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจของคนไทยทั่วประเทศอีกด้วย บัดนี้ถึงเวลาที่สังคมไทยควรหันหน้าเข้าหากันสร้างสานหนทางแห่งสามัคคีธรรม นำประเทศชาติออกจากหลุมดำแห่งความขัดแย้งเหมือนดังที่ครั้งหนึ่งทางการได้ออกคำสั่งที่ 66 / 2523 ประกาศหลัก “การเมืองนำการทหาร ” โดยต้อนรับผู้คนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองให้ออกจากป่าคืนสู่เมือง โดยปราศจากความผิดใด ๆ นำมาซึ่งผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่น้อมนำประเทศคืนสู่แผ่นดินแห่งสันติสุขได้อย่างสร้างสรรค์สง่างาม
เมื่อพิจารณาถึงผลพวงแห่งความขัดแย้งในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา มีข้อควรพิจารณาว่า
1.บุคคลที่มีความผิดฉกรรจ์ในคดีอาญา ในต่างกรรมต่างวาระ ล้วนได้รับโทษทัณฑ์กันไปแล้ว
2.คนไทยเป็นคนรักสันติ รักความสงบ เป็นวิถีดำเนินชีวิตของสังคมไทยตลอดมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบางช่วงของประวัติศาสตร์ มาจากการทำสงครามกับประเทศอื่น ความขัดแย้งในหมู่คนไทย จึงเป็นความแปลกแยกที่ผิดเพี้ยนไปจากวิถีแห่งความเป็นไทยที่สืบเนื่องมายาวนาน
การพลิกฟื้นคืนสู่สังคมที่สงบสุข สังคมแห่งความรู้รักสามัคคี ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม เอื้อโอกาสต่อการประกอบสัมมาชีพ และความอยู่ดีกินดีของครอบครัวและชุมชนไทยอย่างมีนัยยะสาคัญ
3.คนไทยจำนวนหนึ่ง มีความเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะยุติความขัดแย้ง หยุดยั้งความรุนแรง เยียวยาความร้าวฉานในสังคมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษให้แก่ผู้ต้องคดีทั้งมวลโดยไม่ครอบคลุม 3 กรณี คือ
– ผู้ต้องคดีทุจริต
– ผู้ต้องคดีอาญาร้ายแรง
– ผู้ต้องคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 (ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์)
แนวทางเช่นนี้ เป็นการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้แก่ผู้ต้องคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหายโดยไม่บิดเบือนหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินอยู่ เป็นวิธีการที่ยังดำรงหลักนิติรัฐ นิติธรรมไว้ ในขณะที่จะส่งผลอันเป็นคุณต่อชีวิตครอบครัวของผู้ต้องคดีและจะเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ครั้งสาคัญยิ่งต่อการสร้างสานสามัคคีธรรมขึ้นมาในสังคมไทย
จากการศึกษาและสำรวจความเป็นจริง ได้พบว่าการดำเนินตามแนวทางนี้เป็นจุดลงตัวที่คู่ขัดแย้ง นักวิชาการ สื่อมวลชน ฝ่ายการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถจะยอมรับร่วมกันได้ และต่างก็ปรารถนาจะก้าวไปสู่การสร้างสานสันติธรรมร่วมกัน
ดังนั้นจึงสมควร จัดให้มีการดำเนินการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นทานบารมีครั้งยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่น่าความปลาบปลื้มปิติมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งมวลในรัชกาลปัจจุบัน