ผู้สื่อข่าวรายงาน “เนื้อหาสำคัญ” ในร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) และร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ที่ร่างโดยพรรคภูมิใจไทย
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว เสนอให้ตั้ง “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ คือ ศึกษาวิจัย วิเคราะห์ และพัฒนาพืชยาเสพติดอย่างเป็นระบบ, ออกใบอนุญาตให้ประชาชนหรือนิติบุคคลในการปลูก ผลิต จําหน่าย นําเข้า ส่งออก ภายใต้ การควบคุมและกํากับดูแล, รับซื้อพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
เผยแพร่และสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัตินี้, จัดอบรมและสนับสนุนการศึกษาด้านความรู้เกี่ยวกับพืชยาเสพติด แก่บุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน, ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร ผลงานวิจัย และความรู้เกี่ยวกับพืชยาเสพติด
ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาพืชยาเสพติดระหว่างองค์กรภายในประเทศและ องค์กรระหว่างประเทศ, ส่งเสริมงานด้านวิชาการสําหรับพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์, บริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาและการเผยแพร่พืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากฎหมายดังกล่าว มีการหมายเหตุ ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ว่า ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้มีการศึกษาและส่งเสริม ให้ปลูกพืชยาเสพติดซึ่งมีสารออกฤทธิ์สําคัญที่สามารถนํามาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและ นํามาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น สมควรกําหนดหน่วยงานของรัฐขึ้นเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตเรื่องการปลูก ผลิต จําหน่ายหรือส่งออก เพื่อให้มีการควบคุมและ กํากับดูแลให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 และ ค.ศ. 1972 ขององค์การ สหประชาชาติที่ไทยเป็นรัฐภาคี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแยกกัญชา กัญชง และ “พืชยาเสพติด” แต่มีประโยชน์ ออกมาจาก “สารเสพติด” เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ประโยชน์นั้นอย่างเต็มที่
ที่สำคัญ ยังเป็นความพยายาม ในการตั้ง “องค์กร” เพื่อควบคุมดูแลการใช้ “กัญชา กัญชง และพืชยาเสพติด” อย่างสอดคล้องสนธิสัญญา Single Convention on Nacrotic Drug 1961 (ในร่าง พรบ.ระบุในหมายเหตุแนบท้ายว่า อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 และ ค.ศ. 1972 ขององค์การ สหประชาชาติที่ไทยเป็นรัฐภาคี) ที่ระบุว่า
รัฐภาคี อนุญาตให้ปลูก แต่ต้องระบุชัดถึง ภูมิภาค จำนวนพื้นที่ปลูก และจำนวนต้นที่ปลูก จำนวนที่ใช้เพื่อสกัด จำนวนหลังการสกัด โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตปลูกจะต้องส่งมอบผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดให้นำไปสกัดใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
ขณะเดียวกันรัฐจะต้องประมาณการจำนวนผู้ป่วย ปริมาณและความจำเป็นในการใช้พืชเสพในการรักษาผู้ป่วยต่อยูเอ็น พร้อมส่งรายงานให้ INCB รับทราบทุกปี รวมทั้งรายงานข้อมูลการนำเข้า การคงเหลือของยาจากพืชยาเสพติด โดยมีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ ได้รับการบรรจุในพระราชบัญญัติ “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย”ในส่วนของวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ข้างต้น
ดังนั้น หากกฎหมายยาเสพติดฉบับภูมิใจไทยบังคับใช้ จะส่งผลให้นโยบายให้ 6 ต้น เดินหน้าได้สะดวกขึ้น เพราะ “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” จะมีอำนาจในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในกิจกรรมที่เกี่ยวกัการบปลูก และใช้พืชยาเสพติด