นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยผ่าน สยามรัฐ ถึงกรณีผลสำรวจของสวนดุสิตโพลและนิด้าโพล ที่ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข รัฐบาลเพิ่งเข้ามาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น และได้พยายามทำอย่างเต็มที่ แต่อย่างที่รู้ว่า เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับฟังเสียงของประขาชน ถ้ามาตรการไม่เพียงพอจะพิจารณาเพิ่มเติม แต่ยืนยัน เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้แย่ขนาดนั้น
“เชื่อว่าการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และหากมาตรการที่รัฐบาลออกมายังไม่เพียงพอต่อการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย รัฐบาลพร้อมที่จะพิจารณาออกมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม”
โดยก่อนหน้านี้ ไทยรัฐ รายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่” จาก 1,260 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.67 ระบุว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 29.21 ระบุว่าสินค้าแพง รายได้ต่ำ ร้อยละ 24.13 ระบุเป็นผลกระทบจากภาวการณ์เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 22.54 ระบุว่านักการเมืองไม่สนใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงจัง ร้อยละ 20.79 ระบุราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 13.65 ระบุเป็นผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น
เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ ร้อยละ 32.14 ระบุว่าไม่เชื่อ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่บางส่วนระบุว่าแก้ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลและขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่าร้อยละ 22.38 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลน่าจะสนใจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้น เป็นต้น
ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,172 คน เกี่ยวกับความวิตกกังวลของคนไทยที่มีต่อ “การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ณ วันนี้ โดยในด้านการเมือง ร้อยละ 43.76 วิตกกังวลเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล ร้อยละ 38.83 วิตกกังวลเรื่องพฤติกรรมของนักการเมือง ร้อยละ 33.20 การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น ในด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 62.39 ประชาชนวิตกกังวลเรื่องของแพง ค่าครอง ชีพสูง ร้อยละ 35.05 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สิน ร้อยละ 22.75 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ เป็นต้น สำหรับด้านสังคม ร้อยละ 54.81 ประชาชนวิตกเกี่ยวกับอาชญากรรมและความรุนแรง ร้อยละ 29.45 จิตสำนึกของคนในสังคม ร้อยละ 23.31 สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง เป็นต้น