วันนี้ (10 กันยายน 2562) เวลา 13.00 น. ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 868 องค์กร เข้าพบ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องและแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าว พร้อมด้วยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และสมาชิกเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร อาทิ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายผู้บริโภค Thai-PAN และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีความชัดเจนที่จะสนับสนุนให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการระงับใบอนุญาตและไม่มีการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าสารดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นการห้ามนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อนำไปสู่การทำให้สารเคมีดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2562 ในส่วนสต๊อกสารเคมีที่คงเหลือมีอยู่ปริมาณเท่าใดนั้น ขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรแล้วแต่ยังไม่ขอเปิดเผย โดยเป็นข้อมูลตารางเปรียบเทียบตั้งแต่การเริ่มนำสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เข้ามาในประเทศ รวมทั้งข้อมูล 4 ปีย้อนหลัง โดยจะเข้าไปตรวจดูสต็อกด้วยตนเอง ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ พบว่า ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีแล้ว ส่วนหนึ่งเลิกได้ด้วยตนเอง เนื่องจากตระหนักถึงผลเสียหายและอันตรายจากการใช้สารเคมีที่จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย พร้อมทั้งหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น และลดการใช้สารเคมีลง จึงขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน ตลอดทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้ร่วมกันเผยแพร่ข่าวสาร ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ และตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลให้มีความชัดเจน ครบถ้วน เพื่อยื่นเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยข้อมูลดังกล่าวต้องพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ข้อมูลสารเกี่ยวกับทดแทน และข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสารเคมีในสต๊อกที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาแนวทางในการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร
“การที่จะเสนอข้อมูลไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะต้องมีความชัดเจนรอบคอบ และครอบคลุมผ่านทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติทางด้านการเกษตร 2.มิติทางด้านการแพทย์ และ 3.มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เร่งดำเนินการเติมเต็มในส่วนข้อมูลที่คณะกรรมการชุดเก่าเคยขาด โดยการหารือร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในวันนี้ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็วและเต็มที่ โดยคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรเป็นสำคัญ ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกับนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อพิจารณาหาแนวทางการใช้สารทดแทนสารเคมีทั้ง 3 สาร ก่อนนำเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาต่อไป” นางสาวมนัญญา กล่าว
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับหนังสือขอสนับสนุนการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง จากนางสาวปรกชล อู่ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และตัวแทนภาคีเครือข่าย 700 องค์กรด้วย ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลดังนี้ (1) ขอให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยกเลิกการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมฯ (2) ให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด โดยยกเลิก พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นปี 2562 ตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 และกำหนดกรอบระยะเวลาแบนไกลโฟเซต ให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและหาวิธีการทดแทนได้ล่วงหน้า และ (3) เครือข่ายฯ สนับสนุนการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอีก เนื่องจากได้มีการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบ และมีความเห็นพ้องต้องกันขององค์กรด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้นแล้ว