หน้าแรก Article สรุปเนื้อหาร่างกฎหมาย 12 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย

สรุปเนื้อหาร่างกฎหมาย 12 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย

0
สรุปเนื้อหาร่างกฎหมาย 12 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย
Sharing

ฉบับที่ ๑ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ….โดย มีเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไว้ว่า พืชยาเสพติด เป็นพืชที่สามารถนำไปผลิตเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งในหลายประเทศอนุญาตให้ปลูก ผลิต และจำหน่ายได้ จึงสมควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถปลูกพืชยาเสพติดเพื่อการพัฒนาเป็นยารักษาโรค เพื่อเป็นประโยชน์แก่การรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต จำหน่าย หรือส่งออกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการเกษตรกรรมโดยให้สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ

โดยที่กฎหมายฉบับนี้ มีทั้งหมด 5 มาตรา ประเด็นสำคัญคือการเพิ่มบทนิยาม คำว่า “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก การบริหารจัดการ พืชยาเสพติดตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961และ ค.ศ.1972 ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

มีแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยสามารถปลูกกัญชา เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อการรักษาทางการแพทย์ ผลิต จำหน่ายได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว ภายใต้การควบคุม กำกับดูแล และการบริหารของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย

และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเทศไทยได้

***********

 

ฉบับที่ ๒ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทยพ.ศ. ….โดยมีเหตุผลว่า ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้ปลูกพืชยาเสพติดซึ่งมีสารออกฤทธิ์สำคัญที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงกำหนดหน่วยงานของรัฐขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตเรื่องการปลูก ผลิต จำหน่ายหรือส่งออก ให้มีการควบคุมและกำกับดูแลให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961และ ค.ศ.1972ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยไทยเป็นรัฐภาคี

***********

ฉบับที่๓ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านและหมอประจำหมู่บ้านพ.ศ. ….มีเนื้อหาในการกำหนดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้านเพื่อคุ้มครองประชาชน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของชุมชน เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยสะดวก รวดเร็ว โดยใช้ระบบเทเลเมดิซีน เข้ามาช่วยในการทำงานโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคัดเลือก การฝึกอบรม การให้ความรู้ ความชำนาญประกาศนียบัตร การขึ้นทะเบียน การออกบัตรประจำตัวของอาสาสมัครสาธารณสุข

เนื้อหาสำคัญในกฎหมาย กำหนดให้ อาสาสมัครสาธารณสุขผู้ใดผ่านการฝึกอบรม และได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านที่คณะกรรมการกลางกำหนดและสามารถใช้ระบบเทเลเมดิซีนให้ถือว่าผู้นั้นมีสถานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน”

ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน ผู้ใดผ่านการฝึกอบรม และได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้าน และระบบเทเลเมดิซีนตามที่คณะกรรมการกลางกำหนดให้ถือว่าผู้นั้นมีสถานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้าน”

***********

ฉบับที่๔ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ….โดยมีเหตุผลว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นการให้บริการสาธารณะทางการการศึกษาแก่ประชาชน มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้กู้ยืมเงินให้มีการศึกษาที่ดีมีแรงจูงใจในการศึกษาและลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้

โดยมีสาระสำคัญในกฎหมายคือ ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญากู้ยืมเงิน กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น

รวมทั้ง การกำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ ๑ สามารถแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา  พร้อมทั้งกำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน และผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ทำปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุนแล้วถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้ค้ำประกัน  ผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามดังกล่าว ก็ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

 

***********

 

ฉบับที่๕ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ….มีรายละเอียดเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “การศึกษาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต”เพื่อเป็นการรองรับการศึกษาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการศึกษาโดยเฉพาะบุคคลที่มีความไม่พร้อมทางรายได้ ครอบครัว และสังคม หรือมีความจำเป็นบางประการ  เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตามศักยภาพ

แก้ไขบทนิยามของ คำว่า “สถานศึกษา” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยให้ยกเลิกความในบทนิยาม คำว่า “สถานศึกษา” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

 

***********

ฉบับที่๖ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..)พ.ศ. …. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงในสัญญาจ้างให้ลูกจ้างสามารถนำงานไปทำที่บ้าน หรือ ณ ที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้ เป็นการสร้างทางเลือกสำหรับนายจ้างและลูกจ้างในการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกสำหรับนายจ้างและลูกจ้างในการจ้างแรงงาน และเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดปัญหาการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงในอัตราที่สูงเกินไป

โดยให้เพิ่มความในมาตรา ๒๓ แห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงในสัญญาจ้างให้ลูกจ้างสามารถนำงานในทางการที่จ้างหรือที่ได้ตกลงไว้กับนายจ้างไปทำที่บ้านหรือ ณ ที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้

***********

ฉบับที่๗ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..)พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” และ “ผลพลอยได้” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “น้ำอ้อย” และ “เอทานอล” เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมัน โดยเอทานอลเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายที่ได้จากอ้อย จึงสมควรกำหนดบทนิยามคำว่าเอทานอลขึ้น เพื่อให้ประเภทและลักษณะของผลผลิตหรือผลพลอยได้ที่เกิดจากอ้อยและน้ำตาล มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ตลอดจนเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในการมีแหล่งพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น

 

***********

ฉบับที่ ๘ ร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าวพ.ศ. ….  โดยมีเหตุผลว่า ในปัจจุบันปรากฏว่าการปลูก การผลิต การจำหน่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าวทั้งกระบวนการกำลังประสบปัญหาส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และขาดแรงจูงใจในการเข้าสู่อาชีพเกษตรกร ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการผลิต การจำหน่ายและการแบ่งปันผลประโยชน์เกี่ยวกับข้าวเกิดความเป็นธรรมทั้งต่อตัวเกษตรกร โรงสีข้าว และผู้บริโภค และบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนอย่างยั่งยืน สมควรให้มีการจัดระบบบริหารจัดการรวมถึงควบคุมด้านการผลิต การจำหน่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต โรงสีข้าว ผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค

โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มี“คณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว”ที่มีองค์ประกอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าวให้มีประสิทธิภาพ มีการกำกับ ติดตาม ควบคุมและพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต และการตลาดให้เกิดความสมดุล

รวมทั้งกำหนดให้จัดตั้ง“กองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว” เพื่อศึกษา วิจัย พัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการจำหน่าย รวมถึงมีระบบให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อส่งให้แก่โรงสีข้าวให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพรักษาเสถียรภาพของราคาข้าว เป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อกู้ยืมสำหรับเกษตรกรโรงสีข้าวและผู้จัดจำหน่ายข้าว จัดทำประกันภัยตามธรรมชาติให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก และให้ความคุ้มครองผลกำไรแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก

และกำหนดให้มี“สำนักงานคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ข้าว”ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ เก็บ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและการจำหน่ายข้าว จัดทำแผนการปลูกข้าวเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและส่งออกเสนอคณะกรรมการ รับจดทะเบียนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำทะเบียนเกษตรกรและที่ดิน ทดสอบคุณภาพ วิจัยพัฒนา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปลูก และการจำหน่ายข้าว และอื่นๆ ตามที่ คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

***********

ฉบับที่๙ร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลังพ.ศ. …. โดยให้เหตุผลว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง แปรรูป หรือส่งมันสำปะหลังให้แก่โรงงานหรือผู้จัดจำหน่ายมันสำปะหลังมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนทั้งจากปัญหาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการถูกกดราคาหรือโดนเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง และปัญหาสภาวะขาดตลาดรองรับสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูก แปรรูป หรือส่งมันสำปะหลังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และขาดแรงจูงใจในการเข้าสู่อาชีพกฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มี “คณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง”ที่มีองค์ประกอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปลูก การผลิต แปรรูป การจำหน่าย การรับซื้อ และการบริหารจัดการธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลังทั้งกระบวนการ อำนาจหน้าที่กำหนดแผนการปลูกและผลิตมันสำปะหลัง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง กำหนดพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสม

กำหนดให้มี“คณะกรรมการบริหาร”ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทน ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนสมาคมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ผู้แทนโรงงาน ผู้แทนของผู้จัดจำหน่ายมันสำปะหลัง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการธุรกิจมันสำปะหลัง ด้านเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง หรือด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นกรรมการ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะ ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง”เพื่อศึกษา วิจัย พัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการจำหน่ายมันสำปะหลัง รักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร โรงงาน และผู้จัดจำหน่าย รักษาเสถียรภาพของราคามันสำปะหลัง เป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อกู้ยืมสำหรับเกษตรกร โรงงานและผู้จัดจำหน่าย จัดทำประกันภัยตามธรรมชาติ และให้ความคุ้มครองผลกำไรแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก

กำหนดให้มี“คณะกรรมการบริหารกองทุนแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง” ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนเกษตรกร สมาคมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ผู้แทนโรงงานและผู้แทนผู้จัดจำหน่ายมันสำปะหลัง เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข รวมถึงการบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานกองทุน

กำหนดให้มี“สำนักงานคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง”ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ  มีบทกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติ

 

***********

ฉบับที่ ๑๐ ร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ….กฎหมายฉบับนี้ให้เหตุผลไว้ว่า ในปัจจุบันปรากฏว่าการปลูก การผลิต การจำหน่าย และการจัดสรรผลประโยชน์เกี่ยวกับยางพาราทั้งกระบวนการกำลังประสบปัญหา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยเฉพาะผู้ปลูกเพื่อส่งให้แก่โรงงานประสบสภาวะขาดทุนทั้งจากปัญหาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการถูกกดราคาหรือโดนเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง และปัญหาสภาวะขาดตลาดรองรับสินค้า ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงจำเป็นต้องมีการจัดระบบบริหารจัดการรวมถึงควบคุมด้านการผลิต การจำหน่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราอย่างเป็นระบบสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ปลูก โรงงาน ผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค โดยมีคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราที่มีองค์ประกอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

กำหนดให้มี “คณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา”ที่มีองค์ประกอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปลูกการผลิต แปรรูป การจำหน่าย การรับซื้อ และการบริหารจัดการธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราทั้งกระบวนการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแผนการปลูกและผลิตยางพารากำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกยางพารากำหนดพันธุ์ยางพาราที่เหมาะสม

กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหาร”ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน ผู้แทนเกษตรกรผู้แทนสมาคมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ผู้แทนโรงงาน ผู้แทนของผู้จัดจำหน่ายยางพาราและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร การผลิตอุตสาหกรรมยาง หรือด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นกรรมการ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะ ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา”กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารกองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา” ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนเกษตรกร สมาคมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย และผู้แทนโรงงานเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข รวมถึงการบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานกองทุน

 

***********

ฉบับที่ ๑๑ร่างพระราชบัญญัติพืชพลังงาน พ.ศ. ….เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการพืชพลังงาน ประกอบด้วย ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจากข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่งตั้งจากข้าราชการในกระทรวงพลังงานหนึ่งคน ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งจากข้าราชการในกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรมหนึ่งคน ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งจากข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์หนึ่งคน ผู้แทนจากโรงไฟฟ้าหนึ่งคน ผู้แทนเกษตรกรห้าคนและผู้แทนโรงงานห้าคน เป็นกรรมการโดยมีอำนาจ

กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารพืชพลังงาน” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนหนึ่งคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนหนึ่งคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนหนึ่งคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทนหนึ่งคน ผู้แทนเกษตรกรสามคน ผู้แทนโรงงานสามคนและผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคน เป็นกรรมการ (ร่างมาตรา ๒๑) โดยมีหน้าที่และอำนาจประการสำคัญ เช่น ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนพืชพลังงาน” โดยมีวัตถุประสงค์ประการที่สำคัญ เช่น ศึกษา วิจัย พัฒนาและส่งเสริมการปลูก การผลิต การใช้และการจำหน่ายพืชพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องราคาพืชพลังงานผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายพืชพลังงาน โดยให้คณะกรรมการพืชพลังงานจัดทำประมาณการรายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงานทั้งที่ยังไม่แปรรูปและที่ได้ทำการแปรรูปแล้วที่จะผลิตในฤดูนั้น เพื่อกำหนดราคาพืชพลังงานขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายพืชพลังงานขั้นต้น ทั้งนี้ ราคาพืชพลังงานที่แปรรูปแล้วขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายพืชพลังงานที่แปรรูปแล้วขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของประมาณการรายได้โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการแปรรูปพืชพลังงานด้วย

 

***********

ฉบับที่ ๑๒ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้พ.ศ. …. โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง จึงสมควรกำหนดให้พื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศักยภาพและมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นประตูเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ได้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้

โดยมีรายละเอียดของกฎหมายกำหนดให้พื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้กำหนดให้มี “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้” มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมีอำนาจและหน้าที่ กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ ให้ความเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงานและแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้  และให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

 

****************


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่