ที่รัฐสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และรศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. แถลงจุดยืนและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด โดยนพ.อำพล กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพในการยกเลิกใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกรโฟเซต ที่ยืดเยื้อมาหลายปี จากข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่ใช่แค่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมในผลิตภัณฑ์เกษตรอาหารการกินเท่านั้น แต่ยังเข้าสู่ทารกในครรภ์มารดาส่งผลเสียถึงผู้คนในรุ่นต่อๆ ไปด้วย
“คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยเสนอให้ยกเลิกตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 แล้ว แต่ถึงวันนี้ผ่านมาสองปีกว่าก็ยังอนุญาตให้ใช้กันต่อไป เมื่อต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมาได้ตั้งกระทู้ถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ ที่ตรวจสอบพบเป็นจำนวนมาก โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)”
นพ.อำพล กล่าวว่า ประเด็นนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาและแถลงจุดยืนเห็นด้วยกับการยกเลิก 3 สารเคมีดังกล่าว สำหรับในส่วนของรัฐบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี 3 พรรคการเมือง คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีบางพรรคแสดงจุดยืนชัดเจนมาแต่ต้น และบางพรรคก็มีการปรับท่าทีที่ชัดเจนขึ้น ส.ว.ก็เห็นว่า ควรจะยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้เสียที
ด้านนายสังศิต กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า จะขอมติของกมธ. ให้อนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ทันที ทั้งนี้ ได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2540 สมัยพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ตนได้เสนอให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งท่านก็เห็นด้วย แต่ว่าเมื่อไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อขอความร่วมมือ แต่กลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าหัวคะแนนของท่านขายปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จึงไม่สามารถช่วยเรื่องนี้ได้
“ถ้าเราดูปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และเมื่อไปดูตัวเลขการนำเข้ายารักษาโรคก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หมายความว่า สิ่งที่เรานำเข้ามาทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้เกษตรกรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ข้อมูลอายุเฉลี่ยลูกหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบว่า ลูกหนี้เหล่านี้ตายกันเร็วและอายุสั้น เพราะทำเกษตรเคมี ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภคด้วย หากรัฐบาลไม่ใช้ความกล้าหาญหยุดเรื่องนี้ ประเทศก็จะเสียหายไม่มีที่สิ้นสุด”