สมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยาม นำโดยนายนพดล อมรเวช เลขาธิการ เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบ 7 พรรคการเมือง ในกรณีที่ 7 พรรคการเมือง ได้ไปร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่อง”พลวัตแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมี
หัวหน้าพรรคและผู้แทนพรรคการเมืองรวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วม และมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 นายนพดล กล่าวว่าการนำเสนอแนวคิดและเจตนาของนักวิชาการดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเชิญจากผู้ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ย่อมต้องทราบกรอบ ขอบเขตและเนื้อหา ซึ่งการเสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 แต่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมเสวนา ไม่ได้ให้ข้อมูลในลักษณะท้วงติงเพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การเมืองและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ว่าเหตุผลและความสำคัญอย่างไรที่รัฐธรรมนูญไทยต้องมีบทบัญญัติมาตรา 1 ไว้ ไม่สามารถแก้ไขได้ และความจำเป็นที่ต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดียว ไม่สามารถแบ่งแบกได้ แต่กลับมีพฤติกรรมเหมือนรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนร่วมสนับสนุน คล้อยตามว่าจำเป็นและสมควรที่ต้องแก้ไขมาตราดังกล่าว จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามระเบียบรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 49 มาตรา 255 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21และ 22 ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำผิดอันเป็นเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
“คนเป็นหัวหน้าพรรคจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ เพราะทั้ง 7พรรคการเมืองเป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนาขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่า ทั้ง7 พรรคจะไม่ทราบขอบข่ายการเสวนา จึงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เหมือนนั่งรถไปคันเดียวกัน แล้วถูกจับ จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่รู้ว่า คนในรถเขาคิด เขาไปยิงใครมาไม่ได้ อย่างนี้ พวกท่านไปทำไมถ้าไม่รู้วัตถุประสงค์ ยิ่งพวกท่านเป็นเจ้าภาพในการจัดงานยิ่งหนักเข้าไปอีกในเรื่องวัตถุประสงค์ มันเห็นเจตนา จะบอกว่าเป็นความผิดไม่สำเร็จก็ไม่ได้ เพราะแค่มีความคิดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากความคิดจะถูกนำไปขับเคลื่อนสู่สิ่งอื่นต่อไปและการแสดงความความคิดดังกล่าวก็เผยแพร่สู่สื่อสาธารณะรับรู้โดยทั่วกัน จึงเห็นควรให้ กกต.ตรวจสอบพฤติกรรมของ 6 พรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทยและเสรีรวมไทย และตรวจสอบว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเกี่ยวข้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วเข้าข่ายเชื่อได้ว่า 7 พรรคได้กระทำการดังกล่าวก็ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค “ นายนภดล กล่าวและว่า จากนี้ ตนและเครือข่ายจะไปพิจารณาให้สิทธิยื่นเรื่องผ่านอัยการและศาลรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่งด้วย