นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว เสนอแนวทางให้กับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า
อันนี้ผมเขียนเตือนและเสนอทางออกให้ คสช.เพื่อใช้ในการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้คาดหวังบรรดาท่านเหล่านั้นจะปฏิบัติตาม แต่ในฐานะนักวิชาการจำเป็นต้องเสนอทางเลือกที่ผ่านการไตร่ตรองแล้ว และคิดว่าจะมีประโยชน์แก่บ้านเมือง ให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาครับ ดังความด้านล่างนี้
“คสช. ควรปรับยุทธศาสตร์การเมือง”
ผมประเมินว่า ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ ด้วยตัวแบบเชิงยุทธวิธีที่คณะรัฐประหารเลือกใช้ ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในยุคปัจจุบันแล้ว เพราะความนิยมที่ประชาชนมีต่อหัวหน้าคณะรัฐประหารตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน อันเกิดมาจากรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรัฐประหารไม่อาจทำให้วาทกรรมที่ประกาศไว้เป็นความจริงขึ้นมาได้ แม้ใช้เวลาร่วมสี่ปีในการครองอำนาจมาแล้วก็ตาม ในทางกลับกันกระแสที่ต้องการให้คณะรัฐประหารปล่อยวางอำนาจทางการเมืองกลับยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหาร ดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งคณะรัฐประหารเอง และต่อเกียรติภูมิของกองทัพในภาพรวมด้วย เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 หรือ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดตามมาแก่ประเทศชาติ ผมคิดว่าคณะรัฐประหารควรปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองเสียใหม่ จาก “ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหาร” ไปสู่ “ยุทธศาสตร์การตรวจสอบทางการเมือง” แทน โดยเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้คือ การดำรงบทบาทในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ผ่านกลไกวุฒิสภา
การดำรงบทบาทนี้ มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านและสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต เพราะว่าปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาของการที่นักการเมืองมีอำนาจมากคือ กลไกการตรวจสอบที่เป็นทางการในรัฐสภาไร้ประสิทธิภาพและลำเอียง จนทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา หาก ส.ว.ในอนาคตที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารมีจุดยืนในการแสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาล ก็จะทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้น และช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะเผด็จการรัฐสภาดังในอดีต
สำหรับแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ ควรมีลำดับขึ้นตอนดังนี้
1.หัวหน้าคณะรัฐประหารควรประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง และประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน สำหรับบทบาทของรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ประกาศให้ชัดว่าจะมุ่งทำหน้าที่ในการดูแลความสงบมั่นคงของบ้านเมือง และการเตรียมการเลือกตั้งให้ราบรื่นลุล่วงไป
2.เร่งรัดให้ สนช.ออกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.และดำเนินการให้เนื้อหากฎหมายไม่สร้างปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งต้องยืดเยื้อออกไป
3.ไม่จัดตั้งพรรคนอมินีหรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พร้อมกับการแสดงจุดยืนความเป็นกลางทางการเมืองในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ มากกว่าในฐานะที่เป็นผู้เล่นหรือผู้เข้าไปแทรกแซง และใช้กลไกอำนาจรัฐสร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
4.การคัดเลือก ส.ว.ควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ในการทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีความหลากหลายด้านอาชีพ ศาสนา อายุ ภูมิภาค ชาติพันธุ์ และเพศสภาพ