ได้ชื่อว่าเป็นอภิมหาทุนใหญ่ของประเทศสำหรับ CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่วันนี้ ลงมาลุยในธุรกิจก่อสร้างแบบเต็มตัว ร่วมทุนกับหลายบริษัท ภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (CPH) ซึ่งประมูลงานใหญ่ คว้าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาทไปครอง ในราคา 1.2 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนของรัฐ กดราคาต่ำกว่าคู่แข่งกว่า 5 หมื่นล้านบาท
หัสเดิมต้องลงนามเดินหน้าก่อสร้างวันที่ 31 มกราคม 2562 แต่มาถึงวันนี้ สัญญาดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริง เมื่อหักลบคูณหาร กลุ่ม CP ไม่น่ายึกยัก เพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้กลับคืนมานั้นมากมายมหาศาล
ประกอบไปด้วย(อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ)
1) สิทธิในการใช้สถานีกลางบางซื่อ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่สถานีกลางในการจอดรับผู้โดยสารและดำเนินการเชิงพาณิชย์ อาทิ การขายตั๋วรถไฟ, การให้บริการเสริมบนขบวนรถ และพื้นที่บนสถานีที่ ร.ฟ.ท.กำหนดส่งมอบให้ 2) สิทธิในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถใช้พื้นที่ในการจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามเงื่อนไขที่จะต้องระบุไว้ในสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
3) สิทธิในการใช้สนามบินอู่ตะเภา จะใช้จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่ให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับกองทัพเรือไทย 4) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมและสิทธิการให้บริการเดินรถไฟภายในเมือง City Line ของโครงการ Air-port Rail Link โดยผู้ร่วมลงทุนไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟ Airport Rail Link 5) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนก่อสร้างเพิ่มเติมจากสถานีพญาไท-ดอนเมือง และสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และมีสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟบนโครงสร้างนี้
6) สิทธิในการใช้ที่ดินมักกะสันเชิงพาณิชย์ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนที่ดินมักกะสันเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างผู้ร่วมทุน กับ ร.ฟ.ท.ที่จะต้องดำเนินการต่อไป 7) สิทธิการใช้ที่ดินรอบสถานีรถไฟศรีราชาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ 8) สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ GSM-R สำหรับระบบอาณัติสัญญาณ ETC Level 2 โดย ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้จัดเตรียมสัญญาณและแบบสิทธิให้ผู้ร่วมทุน หากมีค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกเก็บให้ผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
และ 9) สิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนสถานีรถไฟเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สถานีรถไฟที่ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ-สถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา การใช้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ ร.ฟ.ท.กำหนด กับสถานีที่ใช้เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ผู้ร่วมทุนจะได้รับสิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ยาวเป็นหางว่าว กระนั้น กลุ่ม CP ก็ยังไม่มาเซ็นสัญญา
ล่าสุด นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ของ “เจ้าสัวธนินท์” และ Exclusive Talk เกี่ยวกับโครงการรถไฟ 3 สนามบินว่า
“เรื่องนี้เรื่องของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจแท้ ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เขาตั้งชื่อว่า PPP (ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน หรือ Public Private Partnership) คือรัฐร่วมกับเอกชน เอาจุดเด่นมาบวกกัน แล้วมาลบจุดอ่อนของรัฐบาล แต่พอ TOR (เงื่อนไขการประกวดราคา) เขียนแล้วไม่ใช่ รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยง สองคนต้องมาเป็นคู่ชีวิตเลยน่ะ เสี่ยงด้วยกัน ถ้าจะล่มก็ต้องล่ม ไม่ใช่เอกชนมาเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง นี่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเลย”
เป็นความพยายามต่อรองกับทางภาครัฐเพื่อให้มีการช่วยเหลือนอกเหนือจากสัญญาที่ทำไว้ในช่วงของการประมูล
ทั้งนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 เมื่อ CP ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR(ขอบเขตการประกวดราคา) ประกอบไปด้วย
1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี 2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75% ต่อปี3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ
4.สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการลงมาเหลือ 5% ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือ CP เนื่องจากปัจจุบัน CP ติดเรื่องเพดานเงินกู้หรือ Single Lending Limit ของธปท. 6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกันการรถไฟแห่งประเทศไทย ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง
7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการด้วย 9.ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน 10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย 11.ห้ามการรถไฟฯ ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน สำหรับข้อ 12 ยังไม่มีการเปิดเผย
ทางการรถไฟฯ และภาครัฐได้เรียก CP มาหารือ โดยสามารถทำได้บางข้อ และทำไม่ได้บางข้อ
กระนั้น ฝ่ายเอกชนยังไม่พอใจ จึงน่าจะเป็นสาเหตุของอาการยึกยักอย่างที่เห็น และเมื่อมีจดหมายเรียกให้ไปเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากกลุ่ม CP ทว่ากลับเป็นนายธนินทร์ที่ลงมาพูดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
จนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวต้องออกมาขู่ว่า หากตัดสินใจเบี้ยว โทษไม่เพียงแต่ยึดเงินประกัน 2 พันล้านบาท และจ่ายส่วนต่างกรณีได้เอกชนรายใหม่ มาเดินหน้างานแต่เสนอราคาสูงกว่า CPH
ทว่าต้องถูกแบล็กลิสต์ อนาคต จะไม่ได้ดีลงานกับรัฐอีกต่อไป ผลเสียมหาศาล
ทั้งนี้ นายอนุทิน ย้ำว่าไม่ใช่เป็นท่าทีที่แข็งกร้าว แต่ทำไปตามหน้าที่
“ขอให้เข้าใจว่าในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ มันจำเป็นต้องทำงาน หากอยู่เฉยๆ จะจ้างตนทำไม และกลุ่ม CPH ก็ชนะการประมูลมาจะครบปีแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้ากันเสียที
ทั้งนี้ เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐเอง ยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้
อีกอย่างคือ ที่เราทำ เพราะว่าเรามองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน ทางเอกชน จะได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ได้ งานจะได้เดินหน้าเสียที ยิ่งกว่านั้น กรอบการยืนราคา ไปถึงแค่วันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ การดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงาน มันเป็นการทำเพื่อชาติ
เพราะถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่ จะไปลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่จะมาลงทุนในโครงการ EEC โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้น ตนจำเป็นต้องทำ โครงการอื่นที่เกี่ยวกับ EEC ภาครัฐเดินหน้าเต็มที่ การที่เราออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบไปหมด”
นายอนุทิน พยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ
ทั้งนี้ สังคมยังงงใจว่า CP กำลังเล่นเกมอะไรอยู่ เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า CP ได้เห็นเงื่อนไขงาน(TOR)ทั้งหมดแล้ว ก่อนที่จะลุยประมูลงาน แต่ไฉนเมื่อชนะ กลับยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม ไปจนถึงขั้นยึกยัก ไร้ความชัดเจน ซึ่งกระเทือนถึงความเชื่อมั่นต่อโครงการ EEC
ที่เป็นโครงการความหวังของเศรษฐกิจไทย
หรือนี่จะเป็นเพียงเกมต่อรองชั้นเซียน ที่ถือคติ “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” ตามสไตล์อภิมหาทุนใหญ่ ?
Ringsideการเมือง