ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุจากภาวะเศรษฐกิจหนุนให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวขึ้น พร้อมยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำกระทบต่อต้นทุน เเต่เชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือจากรัฐจะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับตัวได้
ผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีและดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ประจำไตรมาส 4/2560 จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวม 1,202 ตัวอย่างทั่วประเทศ แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 77 และธุรกิจขนาดกลางร้อยละ 23 ชี้ว่าดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 4 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 42.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 จุด ถือว่าดีขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง การระบายสต็อกของวัตถุดิบ ยอดขายโดยรวมปรับตัวดีทุกรายการ ส่งผลดีต่อดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 1/2561 ให้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดค่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 42.8
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การลงทุนของโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ, การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านบัตรสวัสดิการเฟส 1 และเฟส 2, การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท หนุนให้สถานการณ์ธุรกิจของเอสเอ็มอีฟื้นตัว ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี เเต่เชื่อว่าจะปรับตัวได้เเละไม่กระทบกับการจ้างงาน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดว่าปี 2561 เอสเอ็มอีไทยจะมียอดขายดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3 และจะเห็นกำไรชัดเจนดีขึ้นในไตรมาส 4 และทำให้ในปี 2561 เอสเอ็มอีไทยในภาพรวมจะเติบโตได้ในกรอบร้อยละ 4.4-4.7
ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางเเละขยาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้ออกวงเงินสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง วงเงินกว่า 70,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมกับมาตรการของสถาบันการเงินอื่นๆ