หน้าแรก news “สุริยะ”ล่องใต้เช็คความพร้อม 2 นิคมฯดึงลงทุน ปี 63 มั่นใจ “รับเบอร์ชิตี้-นิคมฯสงขลา”ฐานผลิตยางพารา

“สุริยะ”ล่องใต้เช็คความพร้อม 2 นิคมฯดึงลงทุน ปี 63 มั่นใจ “รับเบอร์ชิตี้-นิคมฯสงขลา”ฐานผลิตยางพารา

0
“สุริยะ”ล่องใต้เช็คความพร้อม 2 นิคมฯดึงลงทุน ปี 63 มั่นใจ “รับเบอร์ชิตี้-นิคมฯสงขลา”ฐานผลิตยางพารา
Sharing

“สุริยะ” เดินสายเช็คความพร้อมพื้นที่การลงทุนภาคใต้ ชู 2 นิคมฯรับเบอร์ชิตี้-นิคมฯสงขลา ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ยางพาราครบวงจร รองรับนักลงทุนไทย-จีน-ใต้หวัน-เกาหลี-มาเลเซีย มั่นใจระบบความพร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภค-โลจิสติกส์ เชื่อมโยงแหล่งผลิตวัตถุดิบในท้องถิ่นหนุนเข้าสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

​นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันนี้ (11ต.ค.2562) ว่า กนอ.ได้ให้การต้อนรับ นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ระยะที่ 2/2 และระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ บนพื้นที่ รวม 1,248 ไร่ และการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (SEZ) ระยะที่ 1 จำนวน 629 ไร่ โดยทั้งสองโครงการถือเป็นพื้นที่การลงทุนที่มีศักยภาพที่พร้อมรองรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและคลัสเตอร์ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่อยู่ในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า เป็นต้น ซึ่งการพัฒนานิคมฯทั้งสองแห่ง เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น

ทั้งนี้ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย และใต้หวัน ได้แสดงความสนใจในการเข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อขยายการลงทุน โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่ได้เปิดดำเนินการให้บริการกับนักลงทุนไปแล้วและมีนักลงทุนเข้าใช้พื้นที่ กว่า 62 ไร่ เพื่อใช้พื้นที่เพื่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตในกลุ่มถุงมือยาง เครื่องนอนยางพารา และ เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น Logistic Packaging เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น

นิคมฯ รับเบอร์ชิตี้ แห่งนี้ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 629 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 พื้นที่สาธารณูปโภค 619 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49 และพื้นที่โครงการโรงงานมาตรฐานให้เช่า 25 ไร่ สำหรับรองรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาประกอบกิจการเต็มพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกิจการประเภท ยางรองส้นเท้า รองเท้าแตะ กรวยยางจราจร จอกนาโน ที่รองแก้วน้ำ ถุงมือ หมอนยางพารา ยางคอมปาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป นับเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับผลผลิตราคายางให้สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการพัฒนานิคมฯรับเบอร์ชิตี้ จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี โดยในส่วนของความต้องการใช้ยางของโรงงานมาตรฐาน จากเดิม 4,200 ตันต่อปี เป็น 42,000 ตันต่อปี มีสัดส่วนเป็น น้ำยางข้น ประมาณ 60% และยางแผ่นรมควัน ประมาณ 40 % ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่บริเวณรอบนิคมฯรับเบอร์ซิตี้ในอนาคต

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ ต.สำนักขาม  อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 629 ไร่ ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้พื้นที่ดังกล่าว นักลงทุนเริ่มเข้ามาติดต่อและแสดงความสนใจ ทั้งจากนักลงทุนไทย จีน และ มาเลเซีย จำนวนหลายราย เพื่อที่จะตัดสินใจเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงระบบขนส่งที่ครบวงจร ที่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านที่สำคัญของภาคใต้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย

นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่สามารถเชื่อมโยงนิคมฯยางพารา (Rubber City) ที่จะช่วยสร้างระบบคลัสเตอร์ยางพาราที่มีความสมบูรณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ กนอ.เป็นผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการ Thailand Plus ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านมาได้มีการเดินสายไปยังประเทศต่าง เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับนิคมฯดังกล่าว กนอ.ได้จัดแบ่งโซนพื้นที่เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 347 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลาง พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ สีเขียว ซึ่งได้ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่ทุกภาคส่วนทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวน 283 ไร่ นิคมฯสงขลาแห่งนี้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งที่ 2 ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจังหวัดสงขลา ประมาณ 13,800 ล้านบาทในอนาคต


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่