ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เผยว่า เลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำการประสานไปยังกลุ่มซีพีอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลาวันที่ 25 ต.ค.นี้ นายศักดิ์สยาม เผยต่อไปว่า ปัญหาที่ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) เห็นชอบก่อนนั้นว่า ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นชอบและส่งให้กระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นได้ส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ รฟท.ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประชุม เพราะมีอำนาจตามตำแหน่ง และจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จากนี้คณะกรรมการ รฟท.จะมีการประชุมในทันที เพื่อรับทราบการดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา และเมื่อคณะกรรมการ รฟท.รับทราบแล้วจะเสนอเรื่องการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีให้ ครม.เห็นชอบในวันที่ 22 ต.ค.62 เพื่อให้การเซ็นสัญญาเป็นไปตามกำหนด
“วันนี้ ทุกคนมีเจตนาที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ วันนี้ไม่มีอะไรแล้ว เพียงแต่ทำให้กระบวนการมันถูกต้อง ครบถ้วนเท่านั้นเอง ด้านเอกชนเองก็อยากลงนาม ยืนยันว่าไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกคนอย่างให้โครงการนี้สำเร็จ” รมว.คมนาคม เผยทิ้งท้าย
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะกรรมการอีอีซี กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีกโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) น่าจะลงนามในสัญญากับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูล คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) หรือกลุ่มซีพี ได้ทันในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 และเชื่อว่าจะไม่มีการล่าช้าออกไป
สำหรับสาธารณูปโภค สายไฟฟ้าต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องย้ายออกจากเขตก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีสัดส่วนเหลือกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องส่งมอบให้ผู้ชนะการประมูลนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การย้ายสาธารณูปโภคทำได้ทันกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว