หน้าแรก Article ปะทะทุนยักษ์ – ข้าราชการขี้ฉ้อ ! วิเคราะห์ “ด่านมะขามเตี้ย” เรื่อง “แบนสารพิษ” ที่รัฐมนตรีภูมิใจไทย ต้องฝ่า

ปะทะทุนยักษ์ – ข้าราชการขี้ฉ้อ ! วิเคราะห์ “ด่านมะขามเตี้ย” เรื่อง “แบนสารพิษ” ที่รัฐมนตรีภูมิใจไทย ต้องฝ่า

0
ปะทะทุนยักษ์ – ข้าราชการขี้ฉ้อ ! วิเคราะห์ “ด่านมะขามเตี้ย” เรื่อง “แบนสารพิษ” ที่รัฐมนตรีภูมิใจไทย ต้องฝ่า
Sharing

ด่านมะขามเตี้ย เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในรอยต่อระหว่างประเทศไทย กับพม่า ในยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตโกสินทร์ตอนต้น

ยามพม่ารบกับไทย ก็ต้องลุยกับแนวตั้งรับของกองทัพไทยที่ตั้งอยู่ด่านมะขามเตี้ยนี่แล

เช่นกัน ยามพม่าตีด่านมะขามเตี้ยได้แล้ว ก็มักจะตั้งทัพที่นี่เช่นกัน รับมือกรณีที่ทัพไทยตีสวนกลับ ด่านมะขามเตี้ย จึงเป็นชื่อด่านทางสงครามที่ทำให้พม่า และไทยพรั่นพรึง ในทางสำนวนการเมือง ด่านมะขามเตี้ย แปลว่า “อุปสรรค” ขัดขวางมิให้การงานสำเร็จ

สำหรับภารกิจแบนสารพิษพาราควอต คลอร์โพริฟอส ไกลโฟเซต แม้บวกลบคูณหาร วิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบัน จะพบว่าฝ่ายสนับสนุนให้แบนสารพิษ นำโดยรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ จะมีแต้มต่อ

ทั้งการได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคม และภาคข้าราชการ โดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุข ที่นำโรงพยาบาลขึ้นป้ายแบนสารพิษกันทั่วประเทศ และข้อเท็จจริงเชิงข้อมูล ซึ่งแม้ฝ่ายสนับสนุนจะอธิบายเชียร์อัพสารพิษอย่างไร แต่ก็โดนตอบโต้ได้ทั้งหมด

อาทิ การใช้วาทกรรม ระบุว่า สารพิษเหล่านี้ ไม่มีอันตราย หากใช้อย่างถูกวิธี ไปจนถึงประเทศที่แบนสารพิษ เป็นเพราะมีการเอาสารพิษเหล่านี้ไปฆ่าตัวตาย

แต่ข้อเท็จจริงคือ สารพิษข้างต้น มีความร้ายแรงสูงมาก และต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างยิ่งในการใช้ให้เกิดประะสิทธิภาพ และไม่เกิดอันตราย ที่มาพร้อมกับคำถามว่า เมื่อรู้ว่ามีอันตรายตอสุขภาพ ยังสมควรใช้อยู่หรือไม่

และนี่คือเหตุผลที่นายอนุทิน ตอบคำถามว่าทำไมต้องแบน ซึ่งรองนายกฯ มักย้ำอยู่เสมอว่า “อะไรที่มีอันตราย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนไม่ได้ ยิ่งเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อร่างกาย ยิ่งต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด”

และการที่ฝ่ายหนุน มักจะอธิบายว่า สารพิษมีอันตราย ก็เพราะนำไปใช้ฆ่าตัวตาย ยิ่งเป็นเรื่องที่ตลก เนื่องจากรายงานจากมูลนิธิชิววิถีเปิดเผยว่า จากการสำรวจเหตุผลที่มีการแบนพาราควอตจาก 51 ประเทศทั่วโลก พบว่าเหตุผลใหญ่ในการใช้เป็นเหตุผลการแบน เนื่องจากความเป็นพิษสูง ที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้งาน และมีผลต่อสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเหตุผลในการแบน 30% เพราะเหตุผลว่าก่อโรคพาร์กินสัน และมีประเทศต่างๆ เพียง 3% เท่านั้นที่อ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการนำไปใช้การฆ่าตัวตาย

แต่ฝ่ายหนุนสารพิษในประเทศไทย กลับเอา 3%มาใช้อธิบายแบบเหมารวมทั้งหมด

แน่นอนว่าในยุทธการหักด่านมะขามเตี้ยแบนสารอันตราย เรื่องของข้อมูลข่าวสารนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล เพราะข้อมูลทางวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งจากฝ่ายของประเทศไทย ล้วนเห็นไปในทางเดียวกันว่าสารพิษทั้ง 3 มีผลลบต่อสุขภาพ

แถมยังได้รับข้อมูลเชิงลึกจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2561, กลุ่มแพทย์, และไบโอไทย ต้องยอมรับว่าฝ่ายหนุนสารพิษ ยากจะเอาชนะในเชิงข่าวสาร

แต่การโหวตของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ไม่ใช่การเอาข้อมูลไปดีเบทกัน แต่โหวตด้วยเสียงของคณะกรรมการ ซึ่งไม่รู้ว่าข้าราชการแต่ละคนคิดเห็นอย่างไร

ที่พอจะคาดเดาว่าน่าจะมาทางแบนสารพิษแน่นอนคือเสียงของคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในคณะกรรมการวัตถอันตรายชุดปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 เสียงจากคณะกรรมการทั้งหมด 29 เสียง จากนั้นจะถูกปรับลดเหลือ 2 เสียง จาก 27 เสียง ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่

ทั้งนี้ แม้รัฐมนตรีหลายทานจะมีท่าทีเห็นด้วยกับการแบนสารพิษ แต่ระหว่างนั้นมีข่าวกระเซ็นจากแหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า

“มีอดีตข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงเกษตรฯ ได้ผันตัวเป็นผู้นำเข้าสารพิษ 3 ชนิด รายใหญ่ของประเทศมาหลายสิบปี และยังมีอาชีพเป็นนายหน้า ติดต่อล็อบบี้เจรจาให้ผลประโยชน์ กับระดับผู้บริหารในกระทรวง พรรคการเมืองต่างๆ แลกกับการเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติและบริษัทรายใหญ่ในไทย ที่ได้ขอนำเข้าสารเคมีต่างๆ ที่มีมาจำหน่ายในท้องตลาด เป็นร้อยยี่ห้อ มากว่า 40 ปี นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้สะดวก โดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า ส่งออก หาเหตุอ้างว่า เพื่อให้สารเคมีทางการเกษตร มีราคาถูก และเพื่อต้นทุนเกษตรกร ถูกลง”

ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ อาจกำลังเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของข้าราชการในคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็เป็นได้

นอกจากนั้น ยังมีด่านมะขามเตี้ยในเรื่องของท่าทีของรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ที่สังคมมองว่ายังไม่ชัดเจนมากพอ เสมือนเปิดทางออก ให้หนุนสารพิษในอนาคต

สังคมยังคลางแคลงใจกับท่าทีดังกล่าว โดยระหว่างนั้น มีรายงานว่า ผู้บริหารของบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ได้เข้าพบรัฐมนตรีบางท่านพร้อมด้วยข้อเสนอมูลค่ามหาศาล เพื่อให้ล้มเลิกการแบนสารพิษ ส่วนผลหารือเป็นอย่างไร สุดแท้แต่จะคาดเดา โดยกลุ่มอภิมหาทุน ได้พยายามขอเจรจากับนางสาวมนัญญาหลายหน แต่ได้รับการปฏิเสธ จนกลุ่มทุนไม่สบอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง

เสมือนรู้ชะตา ว่าอนาคตของสารพิษ อาจจบไม่สวย น่าจะเป็นที่มาของการเล่นนอกกรอบ

นำมาซึ่งการขู่นักวิชาการสายแบนสารพิษถึงขั้นเอาชีวิต ลามไปจนถึงขัดขวางการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งพฤติกรรมเลวๆ เยี่ยงนี้ ถูกนายอนุทิน สวนกลับเจ็บๆ ไปเลยว่า “กระจอก หน้าตัวเมีย”

มาบรรทัดนี้ เราน่าจะเห็นด่านมะขามเตี้ยในภารกิจแบนสารพิษบ้างแล้ว

ซึ่งมีทั้ง “ทุนยักษ์ และข้าราชการขี้ฉ้อ”

 

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่