เฟซบุ๊กเพจ Biothai ของมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณี รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่สนับสนุนให้มีการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต นั้นโดนหลอกให้เป็นเครื่องมือในการแบน โดยได้รับข้อมูลความรู้ที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องนั้น โดยระบุว่า
ผู้บริหารแบบนายอนุทิน หรือ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะสามารถเลือกรับคำปรึกษาจากนักวิชาการเก่งๆ แบบ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนน.ส.มนัญญา ทราบว่ามีการแต่งตั้งอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรถึง 2 คนมาเป็นที่ปรึกษา และการเสนอแบนไม่ได้เริ้มที่นายอนุทิน แต่เป็นมติมาตั้งแต่สมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็น รมว.สธ. เป็นการเห็นพ้องต้องกันโดยองค์กรด้านสุขภาพและอื่นๆ จำนวนมาก เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
ในโพสต์ยังระบุอีกว่า สารพาราควอตมีการแบนแล้วถึง 58 ประเทศ คลอร์ไพริฟอสแบนแล้ว 16 ประเทศ แต่หลังจาก EFSA แถลงล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในปีหน้าจำนวนประเทศที่ยกเลิกการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรเป็นประเทศสุดท้ายที่แบน ส่วนกรณีไกลโฟเซตหลังมีคำพิพากษา 3-4 คดี ให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท และมีคดีขึ้นสู่ศาลกว่า 18,400 คดีแล้ว ประเทศต่างๆ ก็เริ่มทยอยแบนกันมากขึ้น
ทั้งนี้ ไบโอไทยยังระบุว่า ปัญหาเรื่องการแบนสารพิษเป็นปัญหาหมักหมมมานาน นักวิชาการและระบบราชการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยเฉพาะนักวิชาการบางคนที่รู้แบบ ครึ่งๆกลางๆ ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าไม่รู้จริงๆ หรือจงใจเลือกรับข้อมูลจากฝ่ายบริษัทสารเคมี อย่างไรก็ตาม นักวิชาการแบบ อ.เจษฎา เตือนนักการเมืองแบบนายอนุทินเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ควรเตือนตัวเองด้วยว่า ตัวเองมีความรู้เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากน้อยเพียงใด รู้แบบครึ่งๆกลางๆ เอาข้อมูลจากนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนสารพิษที่ใกล้ชิดบริษัทมาเผยแพร่ เหมือนที่เลือกใช้ข้อมูลจากบริษัทสารเคมี