นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศนโยบายเกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติเพื่อดำเนินการในระยะเร่งด่วนก่อนก้าวสู่เกษตรอินทรีย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในการช่วยยกระดับสินค้าภาคเกษตรของไทยให้ปลอดภัยและสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนให้แก่โรงงานแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกได้ โดยแนวทางดังกล่าวจะทำให้ไทยสามารถก้าวสู่ครัวโลกที่มีศักยภาพในอนาคต
“ผมได้เสนอกระทรวงเกษตรฯ ไปแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าภูมิศาสตร์ของไทยมีความได้เปรียบในแง่ภาคเกษตรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่เรากลับมองข้ามทำให้ขาดการยกระดับ วันนี้เกษตรกรของเรายังคงเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำเพราะขาดความรู้ เงินทุน ตลาดและนวัตกรรม จึงทำให้สินค้าเกษตรของไทยบางส่วนเกิดปัญหาไม่ปลอดภัยมีสารตกค้างไม่สามารถส่งออกได้ เราจึงต้องมุ่งทำให้เป็นเกษตรปลอดภัยก่อนเพื่อให้เกิดความรู้แล้วจึงขยับไปสู่เกษตรอินทรีย์” นายศักดิ์ชัยกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำนวัตกรรมมายกระดับวิถีชีวิตทุกภาคส่วน ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเกษตร 4.0 ด้วยการมุ่งสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร แต่หากวัตถุดิบสำคัญทางการเกษตรไม่ปลอดภัยก็ย่อมกระทบต่อกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน ดังนั้น แนวทางการทำเกษตรปลอดภัยที่ได้เสนอรัฐ ได้แก่ หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือเพื่อประกาศพื้นที่เป็นเกษตรปลอดภัยซึ่งอาจจะเริ่มจากหนึ่งตำบลเกษตรปลอดภัย หนึ่งอำเภอ ก่อนขยายสู่ระดับจังหวัด ขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละพื้นที่
พร้อมกันนี้จะต้องร่วมกับหน่วยงานด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี อาทิ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมดึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ หรือใกล้เคียงมาร่วมวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามากำหนดพื้นที่ (โซนนิ่ง) เพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการควบคู่ไปด้วย และสิ่งสำคัญต้องผลักดันให้สินค้าเกษตรผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP)
นอกจากนี้ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันสนับสนุนเกษตรกรหันมาใช้เทคโนยีบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและควบคุมคุณภาพ เช่น การจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ การใช้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ เองได้มีแผนพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งในระดับจังหวัด เขต และประเทศที่ขณะนี้มีระดับหมื่นคนและจะขยายให้มากขึ้นนั้นที่จะเห็นหัวหอกสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ จะนำความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการถ่ายทอดสู่เกษตรรุ่นใหม่ๆ ให้มากขึ้น เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าถ้าทำได้ปัญหาการส่งออกจะไม่มีเพราะไม่มีสารตกค้าง การแปรรูปอาหารผู้ประกอบการก็ไม่ต้องกังวลกับความไม่ปลอดภัย มูลค่าเพิ่มจากสิ่งเหล่าจะมีมากกว่า 20-30% ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยที่รัฐจะแบน 3 สาร คือ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” เพื่อให้เป็นเกษตรปลอดภัยแล้วมุ่งเน้นไปที่วิจัยและพัฒนาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสมการพัฒนากับนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะทำอย่างไรให้เป็นเกษตรปลอดภัย เพราะผมคิดว่าเกษตรคือทางรอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หรือ Disruptive ที่ภาคส่งออกเราเสี่ยงมากขึ้น” นายศักดิ์ชัยกล่าว