หน้าแรก news ป.ป.ช. ประกาศแต้มความโปร่งใสภาครัฐ ปี 62 ธอส.อันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วน “กลาโหม” คะแนนต่ำสุดคือ

ป.ป.ช. ประกาศแต้มความโปร่งใสภาครัฐ ปี 62 ธอส.อันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วน “กลาโหม” คะแนนต่ำสุดคือ

0
ป.ป.ช. ประกาศแต้มความโปร่งใสภาครัฐ ปี 62 ธอส.อันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วน “กลาโหม” คะแนนต่ำสุดคือ
Sharing

สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งในภาพรวมของประเทศและในแต่ละหน่วยงานภาครัฐโดยการประเมินในปีนี้ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานรัฐร่วมประเมิน 8,299 หน่วยงาน

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ผลการประเมิน ITA ภาพรวมทั้งประเทศ 66.73 คะแนน หรืออยู่ในระดับ C หรือระดับปานกลาง โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ A และ AA จำนวน 970 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น ทั้งนี้ หากแยกเป็นประเภทหน่วยงาน พบว่าหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ องค์กรศาล 91.93 คะแนน รองลงมาคือองค์กรอัยการ 90.61 คะแนน หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา 90.35 คะแนน โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 61.58 คะแนน

หากแยกเป็นกลุ่มกระทรวงสังกัดของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ากระทรวงที่ได้คะแนนสูงสุดคือ กระทรวงการคลัง 90.04 คะแนน รองลงมาคือ กระทรวงวัฒนธรรม 89.59 คะแนน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 89.44 คะแนน ส่วนกระทรวงที่มีคะแนนต่ำสุดคือกระทรวงกลาโหม 85.05 คะแนน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 85.34 และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 85.72

หากแยกเป็นการประเมินตามภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า ภูมิภาคที่ได้คะแนนสูงสุดคือ จ.ตรัง จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.พัทลุง จ.ยะลา จ.สงขลา และ จ.สตูล คิดเป็น 71.58 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ คิดเป็น 59.30 คะแนน

สำหรับภาพรวมที่สำคัญอีกมิติหนึ่ง คือการประเมินในรายเนื้อหา ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด พบว่า ตัวชี้วัดด้านการปฏิบัติหน้าที่ 88.72 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการใช้งบประมาณ 79.91 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการใช้อำนาจ 82.66 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการใช้ทรัพย์สินราชการ 78.21 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการแก้ปัญหาการทุจริต 79.24 คะแนน ตัวชี้วัดด้านคุณภาพการดำเนินงาน 79.60 คะแนน ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพการสื่อสาร 77.74 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการปรับปรุงการทำงาน 74.72 คะแนน ตัวชี้วัดด้านการเปิดเผยข้อมูล 52.69 คะแนน และตัวชี้วัดด้านการป้องกันการทุจริต 42.34 คะแนน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า มีหลายประเด็นที่มีผลการประเมินในภาพรวมในระดับต่ำ จะต้องเร่งรัดพัฒนาดีขึ้น เช่น มาตรการภายในเพื่อป้องกันการทุจริต การประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงการทุจริต การจัดทำแผนและกำกับติดตามแผนการป้องกันการทุจริต การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยกับสถิติการให้บริการและผลการสำรวจความพึงพอใจ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ที่ ป.ป.ช. ดำเนินการประเมิน ITA มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการประเมิน ITA ได้รับการยอมรับ และยังมีการบรรจุอยู่ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งกำหนดว่าในปี 2565 ให้หน่วยงานภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ต้องได้ค่าประเมิน ITA คิดเป็น 85 คะแนนขึ้นไป

ทั้งนี้ รายละเอียดการประเมินของแต่ละหน่วยงาน จะส่งให้หน่วยงานผ่านทางระบบออนไลน์ โดยจะมีข้อเสนอแนะทางนโยบายและทางวิชาการ จากสถาบันวิจัยที่เป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้นำไปใช้ในการวางแผนเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรในปีงบประมาณถัดไป เพื่อที่จะให้องค์กรมีสุขภาวะในด้านคุณธรรม และความโปร่งใสที่ดียิ่งขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่มีผลคะแนนITAต่ำกว่าเกณฑ์ จะได้พัฒนาการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น

ป.ป.ช.หวังว่า เมื่อตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทราบผลคะแนน ITA ของหน่วยงานของตนเองแล้ว จะช่วยกันขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริต เสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสภายในองค์กรของตัวเอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลให้เทียบเท่าระดับสากล

 

ขอบคุณข้อมูล แจงสี่เบี้ย


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่