ที่พรรคอนาคตใหม่ “มติชน” รายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) นำส.ส.จำนวน 14 คน ร่วมแถลงข่าวเพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ภายในพรรคอนาคตใหม่ โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า กรณีของ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 พรรคอนาคตใหม่ ทางพรรคจะดำเนินการตามข้อบังคับด้วยการให้คณะกรรมการตรวจสอบวินัยและจริยธรรมของพรรคที่มีนายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจาก น.ส.กวินนาถ ได้ลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสวนทางกับมติของพรรคถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งตามขั้นตอนของการตรวจสอบจะเริ่มภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครปฐม และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจะส่งให้กับคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาต่อไป โดยโทษของพรรคตามข้อบังคับมี 4 ประการตามลำดับ ได้แก่ 1.ตักเตือน 2.ภาคทัณฑ์ 3.ตัดสิทธิประโยชน์บางประการของสมาชิก และ 4.ไล่ออกและขับออก
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในเบื้องต้นพรรคจะสั่งห้ามไม่ให้น.ส.กวินนาถดำเนินกิจกรรมใดๆกับพรรคอนาคตใหม่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของพรรค
“หากเราปล่อยให้ส.ส.ลงมติอิสระโดยไม่สนมติพรรคเลย อย่างนี้จะมีพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร และส.ส.จะสังกัดไปเพื่ออะไร”
ต่อมา น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนโดนโจมตีเยอะพอสมควร จึงไม่ออกมาพูดอะไร แต่วันนี้เห็นว่าหนักขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่พูดอะไร สิ่งที่เขากล่าวหาจะคิดว่าเป็นเรื่องจริงเสียก่อน จึงต้องออกมาพูด สำหรับเหตุผลที่โหวตสวนมติพรรคเรื่อง พ.ร.บ.งบฯ นั้น ตนเป็น ส.ส.เขต ที่มีปัญหาเชิงพื้นที่เยอะ ซึ่งเราเองลงพื้นที่ตลอด มองว่าสิ่งที่เราเห็นด้วย เราไม่ได้เห็นด้วยกับทุกเรื่อง แค่รับหลักการเท่านั้น แต่ยังมีวาระที่สองและสามอีก หากวาระที่เหลือไม่ดี เราก็ไม่โหวตให้ แต่เป็นการรับเพื่อเปิดทางให้ทีมงานในพื้นที่ทำงานต่อได้สะดวก
“ที่ทุกคนตีข่าวกันว่ารับเงินสิบล้าน ก็ขอให้เอาหลักฐานมาให้ดู ตนขอสาบานต่อหน้าไฟเลยว่า ไม่เคยไปรับเงินที่ร้านเพลินตามข่าวลือที่ปรากฎ กลายเป็นว่าการที่เราสวนมติครั้งนี้ก็กลายเป็นงูเห่า รัฐบาลมีเสียงมากกว่าอยู่แล้ว เขาจะมาซื้ออะไรแค่คนเดียว ก่อนหน้านี้ มีคนมาเสนอ 30 50 70 ล้าน แล้ว ถ้าจะไปก็ไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว จะมาไปอะไรแค่ 10 ล้าน”
ล่าสุด มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นที่พรรคอนาคตใหม่อีกครั้ง เมื่อนายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.)ได้ทำหนังสือจำนวน 2 หน้า แจ้งไปยังหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เรื่องขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม โดยเนื้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่า
ตามที่ที่ประชุมใหญ่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 27 พฤษภาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พี่น้องสมาชิกชาวอนาคตใหม่ ได้มีมติเลือกผมให้เป็นกรรมการบริหารพรรค (ตำแหน่งสัดส่วนที่ประชุมใหญ) ซึ่งถือว่าเพื่อนสมาชิกได้ให้เกียรติเลือกผมเข้ามาเพื่อทำหน้าที่สำคัญทางการเมืองในนามพรรค ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางและอุดมการณ์ของพรรค ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทย ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตลอดมาผมได้ทุ่มเทการทำงานร่วมกับพี่น้องทุกคนในพรรคอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อสานฝันของพรรคอนาคตใหม่ให้เป็นความจริง
การประชุมส.ส. ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 มีวาระการลงมติร่าง “พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562” นั้น ผมมีความเห็นต่างต่อเสียง
ส่วนใหญ่ของที่ประชุมส.ส.อนค.จำนวน 69 คน(เมื่อวันที่ 16 ต.ค.62) ซึ่งมีมติคัดค้าน 2:1= 47 คน(ไม่รับ) และให้งดออกเสียง 21 คน ส่วนเลขาธิการฯซึ่งดำเนินการประชุม ขอใช้สิทธิงดออกเสียง
ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็น “ประเด็นอ่อนไหว” ที่อาจส่งผลกระทบ(ที่รุนแรง) ต่อพรรคฯในอนาคตได้ จึงเลือกใช้แนวทางที่ผมเชื่อมั่นว่าดีที่สุดคือ “การงดออกเสียง” และแนวทางดังกล่าวก็สอดรับกับเสียงส่วนใหญ่ของการประชุมหารือของคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อค่ำวันที่ 8 ต.ค. 62 และก็เป็น “ทางออก” ที่เลขาธิการพรรคได้เปิดช่องเอาไว้ หากสมาชิกท่านใดรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ
ท้ายที่สุด ผลการลงมติของ ส.ส. พรรคฯในประเด็นดังกล่าว ก็ผิดไปจากความเห็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ผมไม่อาจจะยอมรับได้ และภายหลังที่ผมได้แสดงจุดยืนทางการเมืองคือการเลือกปฏิบัติตามคำแนะนำที่จะไม่เข้าไปใช้สิทธิออกเสียงในประเด็นดังกล่าวนี้ ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งโดยสัญชาติญาณของนักสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม ผมไม่เคยหวั่นไหวต่อความเห็นในทางลบใด ๆ เพราะเมื่อเราก้าวมาเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว สังคมย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้
แต่เมื่อมองผลกระทบที่อาจมีต่อพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นความหวังและความฝันสุดท้ายของประชาชน ผมเกรงว่าประเด็นของผม อาจเป็นชนวนแพร่ขยายความไม่เข้าใจระหว่างพี่น้องสมาชิกพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของพรรคเรา ในฐานะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ ผมจึงขอแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562 นี้ เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานการทำงานต่อไป