ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร หลังใหม่ นายอุบล อยู่หว้า อายุ 57 ปี ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสาน นำตัวแทนกลุ่ม/เครือข่าย 22 กลุ่ม ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตรชนิดและเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผย ยกเลิกการใช้และการจำหน่ายภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยมีนายสุวัจน์ เข็มเพชร ปลัดจังหวัดยโสธรเป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายอุบล อยู่หว้า กล่าวว่า จังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ มีเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมากต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปีมีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็งกว่า 10 กลุ่ม มีตลาดสีเขียวที่จำหน่ายผลผลิตอินทรีย์มากกว่า 10 แห่งมีพื้นที่ปลอดยาฆ่าหญ้าจำนวน 4 ตำบล 14 หมู่บ้านโดยได้บูรณาการ การทำงานร่วมกันกับทุกเครือข่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญได้แก่การขับเคลื่อนระดับนโยบายสาธารณะระดับจังหวัดด้วยมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน มติสมัชชาสุขภาพจังหวัด การสร้างระบบอาหารปลอดภัย โดยบูรณาการร่วมกันกับประเด็นส่งเสริมการอ่าน ประเด็นการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ และการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการขยายการขับเคลื่อนสู่ระดับพื้นที่ด้วยเครื่องมือธรรมนูญตำบล จำนวน 6 ตำบล ซึ่งสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด จึงเป็นอุปสรรคต่อระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ตามแนวทางและวิสัยทัศน์จังหวัดยโสธรตลอดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย ดังนั้นเครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแบน
สารเคมีกำจัดศัตรูพืซ 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโพเซตและคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ดังนี้
- ให้ยกเลิกการใช้และการจำหน่ายภายในเดือนธันวาคม 2562
- ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติโดยเปิดเผย
- ให้มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ลงทะเบียนต้องการใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ต่อทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ใช้
- ให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการหนุนเสริมให้เกษตรกรที่ใช้สารเคมีสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยหลังจากยื่นหนังสือแล้วทางเครือข่ายจะรอดูท่าทีของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด อย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากผลการพิจารณาไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป นายอุบล ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสานกล่าวปิดท้าย
นอกจากนั้น เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จ.มหาสารคามประกาศร่วมสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิดและเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผย พร้อมยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการวัตถุอันตราย
โดยระบุว่า ด้วยจังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นเมืองหลวงของเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากมีต้นทุนรูปธรรมในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่เข้มแข็ง หลากหลาย มากกว่า 10 กลุ่ม มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตปลอดภัย มีตลาดนัดสีเขียวที่ร่วมมือกับหน่วยงาน โรงพยาบาลระดับจังหวัด อำเภอ ไม่น้อย กว่า 10 แห่ง มีมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดว่าด้วยการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยและการขับเคลื่อนระดับนโยบายสาธารณะระดับจังหวัดด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ดังนั้น เครือข่ายฯเห็นว่าสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด จึงเป็นอุปสรรคต่อระบบเกษตรรรมยั่งยืน ตลอดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย
ขณะเดียวกัน เครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะประชุมในวันอังคารที่ 22 ตุลาคมนี้ ได้ตระหนักและมีมติห้ามใช้ ห้ามขายสารเคมี 3 ชนิด (พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส) รวมทั้งขอให้มีการลงมติโดยเปิดเผย โดยมีนางสาวรตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการรับมอบหนังสือดังกล่าว
ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า เครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผย
สำหรับเครือข่ายเกษตรทางเลือกที่มาร่วมยื่นหนังสือในวันนี้ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอสารภี สันป่าตอง ดอยสะเก็ด แม่ริม สะเมิง และแม่อาย เป็นต้น โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้มีข้อเสนอ 4 ประการคือ 1.ยกเลิกการใช้และการจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือนธันวาคม 2562
2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติโดยเปิดเผย 3.ให้มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ลงทะเบียนต้องการใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ต่อเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร 4.ในระยะยาวให้มีการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการที่จะมีอาหารปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร โดยเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรวิถีธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีในการผลิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเคมีเป็นอินทรีย์ได้ หากมีความรู้เรื่องการกำจัดศัตรูพืช และการเพิ่มผลผลิตโดยวิธีธรรมชาติ และมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
ดร.ชมชวน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 5,000 ครอบครัว หรือราว 140,000 ราย คิดเป็น 5-6% เท่านั้นของการเกษตรทั้งระบบของจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัวจำนวน 2,000 ครอบครัว และอีก 3,000 ครอบครัวกำลังเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยในปี 2563 เครือข่ายฯ จะเดินหน้าโครงการเกษตรอินทรีย์ทุกอำเภอ เพื่อผลักดันให้เชียงใหม่สู่วิถีอินทรีย์
นางสาวรตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหนังสือจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดเชียงใหม่แล้ว จะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ภายในวันนี้ เพื่อลงนามหนังสือและส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องทราบภายในวันนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมที่จะเร่งขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ให้มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่