แม้กฎหมาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเพิ่งผ่านชั้น สนช. ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน กว่าพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ จะเป็นรูปเป็นร่าง กระนั้น ก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม โดยล่าสุด มีนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติกว่า 6 พันบริษัท ขอจดทะเบียนลงหลักที่ EEC
มีการแจ้งของบลงทุนไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ตัวเลขขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่รัฐบาล นำโดยรองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปั้นผีลุกปลุกผีนั่ง โครงการดังกล่าวมาในช่วง 2 ปีหลัง
“ยิ้มไม่หุบ”
ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกของการพลิกโฉมประเทศไทยจากประเทศประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบเกษตร สู่ประเทศที่มีความเป็นเอกเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรส่งออก
ขณะเดียวกัน ยังพ่วงให้ไทยเป็นฮับแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค ที่รองรับการผลิตนวัตกรรมการขนส่ง ทุกประเภท รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต “หุ่นยนต์”
เหล่านี้ ปรากฏอยู่ใน ม.39 ของกฏหมาย EEC ที่เพิ่งผ่านชั้น สนช.
มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
การลงทุน ตั้งโรงงานนั้น กฏหมายไทยเอื้อนักลงทุนสุดขีด เพราะต่างชาติ สามารถเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน EEC ได้เลย
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฏหมาย กล่าวถึงประเด็นนี้ ว่า “ต้องดูว่าคนที่เข้ามาประกอบกิจการเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ถ้าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เข้าเป็นผู้ประกอบการ เป็นบริษัท ห้างร้าน และเป็นคนต่างด้าว ก็สามารถถือที่กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ คนเหล่านี้สามารถถือสิทธิที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่ดิน”
กวักมือเรียกนักลงทุนกันเต็มที่
ในส่วนของการอำนวยความสะดวก EEC เน้นเกื้อหนุนนักลงทุนด้วยระบบการขนส่งชั้นสูง
คือ โครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ในระหว่างทางจอดเฉพาะสถานีใหญ่ ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภาเป็นเฟสแรก ที่เหลือเป็นเฟสถัดไป ตั้งเป้า 15 ปีรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน เปิดบริการในปี 2566 ตั้งเป้ารองรับก่อน 15 ล้านคน ซึ่งทำให้พื้นที่กลายเป็นเมืองใหญ่รองจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางระหว่างอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง
ในอนาคตคาดว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยว คนไทย จะเปลี่ยนมาที่นี่มากขึ้น ตัวสนามบินซึ่งกองทัพเรือให้พื้นที่เฟสแรก 6,500 ไร่ ได้นักออกแบบเมืองจากเจิ้นโจวเป็นที่ปรึกษา มีโรงแรม ที่อยู่อาศัย เขตฟรีโซน โรงพยาบาล
โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วยังรวมถึงท่าเรือน้ำลึกเทียบกับรถไฟรางคู่ ปัจจุบันรถไฟรางคู่ยังไม่ได้เข้าไปจอดในท่าเรือ ภายในปี 2566 จะมีรถไฟทางคู่จอดในท่าเรือ คาดลดต้นทุนขนส่ง 2 แสนล้านบาท และเปลี่ยนโหมดจากขนส่งทางรถบรรทุกมาขนส่งทางเรือมากขึ้น ทำให้การจราจรดีขึ้น โดยคณะอนุกรรมการมีข้อเสนอชักชวนเอกชนร่วมลงทุนจาก 40 เดือน เหลือ 10 เดือนในด้านขั้นตอนการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชน
โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 6 โครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง คาดเดือนกุมภาพันธ์เปิดยื่นซองทีโออาร์ และในเดือนกรกฎาคมได้ตัวผู้ลงทุน เปิดบริการปี 2566
นอกจากนี้ สนามบินอู่ตะเภา เปิดบริการเต็มเฟส มีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยการบินไทยร่วมลงทุนกับแอร์บัส , ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด
ลงทุนขนาดนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC เปิดเผยว่า มีจุดคืนทุนแน่นอน
ทั้งนี้ ภายในปี 64 จะมียอดการขอลงทุนในโครงการกว่า 6 แสนล้านบาท ไม่นับรวมนักท่องเที่ยว ที่จะมาลงในพื้นที่ภาคตะวันออก มากขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
เม็ดเงินสะพัดจากภาคตะวันออก กระจายไปทั่วประเทศ
เหล่านี้ เป็นส่วนผสมระหว่างความพร้อมของโครงการ และตัวเลขคาดการณ์ ที่ไม่สูงเกินจริง ด้วยเหตุผลว่า กลุ่มประเทศ CLMV และ ไทยยังเนื้อหอมในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เฉพาะปี 2561 การปรับยอดรับการลงทุน สูงขึ้นทุก 15 วัน ทั้งที่ยังไม่พ้นเดือนที่ 2 ของปีด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ภาพทั้งหลาย ยังอยู่แค่ในกระดาษ ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ
หากเป็นไปตามที่คำนวณ EEC จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ที่จะทำให้คนไทยไม่ลืม “รัฐบาล คสช.” แน่นอน
newsringside