หน้าแรก Article นโยบาย 6 ต้น ลุยต่อ “ยก 2” ! เปิดศึกสังเวียนสภา

นโยบาย 6 ต้น ลุยต่อ “ยก 2” ! เปิดศึกสังเวียนสภา

0
นโยบาย 6 ต้น ลุยต่อ “ยก 2” ! เปิดศึกสังเวียนสภา
Sharing

เป็นช่วงเวลาแห่งความชื่นมื่นอย่างแท้จริง สำหรับพลพรรคภูมิใจไทย ทั้งด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพรรค กับแนวร่วมในรัฐบาล และเรื่องของผลงานที่ผลิดอกออกผล โดยเฉพาะผลงานชิ้นโบว์แดง อาทิ เรื่องการแบน 3 สารพิษ และการเซ็นสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับกลุ่ม CPH  โดยเรื่องการแบนสารอันตรายเป็นการผลักดันร่วมกันของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่เรื่องการเซ็นสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นผลสัมฤทธิ์จากความพยายามของนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะนายอนุทิน ติดโผรัฐมนตรีที่โลกต้องจำ เพราะทำงานหนัก โชว์ความคืบหน้า ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีอยู่หนึ่งเรื่องที่ยังไม่ทันใจ “วัยรุ่น” เป็นหนามเล็กๆ ยอกใจ “คนภูมิใจไทย” อยู่ตลอด จนถึงขั้นที่นายอนุทินมักจะเปรยว่า “เวลาโพสต์ อะไร ก็มักจะโดนถามเรื่องนี้” เรื่องที่ว่าก็คือ “นโยบายกัญชา 6 ต้น”

สำหรับนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยนั้น มีความคืบหน้าไปมาก และเป็นไปตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ คือ นับ 1 จากกัญชาทางการแพทย์ ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ควบรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความยอมรับแก่กัญชา โดยผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวง ใช้กัญชา ในฐานะทางเลือกหนึ่ง ที่ห้ามมองข้าม ในการรักษาโรคต่าง กระทั่งองค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตกัญชาด้วยตัวเอง และแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาล เพื่อรองรับการสั่งจ่ายของแพทย์ ใส่วนของ “หมอพื้นบ้าน” นายอนุทิน เซ็นรับรอง “สถานะ” และเชิญชวนให้ “หมอพื้นบ้าน” นำสูตรยากัญชามาลงทะเบียน เพื่อให้สามารถแจกจ่ายผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย เป็นการนำ “กัญชา” ขึ้นมาบนดิน ด้วยการรักษารักษาผู้ป่วย โดยปัจจุบัน เริ่มมีคนไข้ได้รับ “น้ำมันกัญชา” ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว ซึ่งรับประกันได้ว่าไม่มีสารปนเปื้อน ปลอดภัย ใช้ได้แบบไม่ต้องกังวล

เหล่านี้ นายอนุทิน อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นความคืบหน้าชัดเจน แต่ในส่วนของนโยบาย 6 ตั้นนั้น นายอนุทิน อธิบายในวันที่ 25 ตุลาคม ว่า

จำเป็นต้องมีการแก้กฎหมาย เพราะไม่เหมือนเรื่องการใช้ทางการแพทย์ที่สามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีแก้ไขได้เลย แต่นโยบาย 6 ต้น เกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต้องแก้กฎหมายผ่านสภา ซึ่งได้นำกฎหมายเข้าไปแล้ว 2 ฉบับ มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา มารับเรื่องด้วยตนเอง เท่ากับนับ 1 แล้ว จากนี้กระบวนการจะเป็นไปตามขั้นตอน ต้องเดินหน้าอย่างรัดกุม รอบคอบ เพราะมีเรื่องต้องพิจารณามากมาย ขอให้ประชาชนใจเย็น

นโยบายกัญชา หลักใหญ่คือต้องเป็นไปเพื่อการรักษาโรค เมื่อทำสำเร็จกัญชาจะกลายเป็นพระเอก การดำเนินนโยบายต่อไปจะง่ายทันที ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นโยบายนี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองขยับ แต่ข้าราชการก็ทำงานเต็มที่ ไม่มีเกียร์ว่าง เพราะรัฐมนตรีมาด้วยความวางใจของประชาชน ต้องตอบแทนประชาชน ต้องทำงาน ให้เกิดผลจับต้องได้ โดยอาศัยการขับเคลื่อนของข้าราชการอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีข้าราชการที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามแน่นอน

“สมมุติ ถ้าทำนโยบายกัญชาแบบไม่รอบคอบ ปล่อยให้ประชาชนพกสารสกัดกัญชาไปไหนมาไหน แล้วพกไปต่างประเทศแบบไม่มีความรู้ เผลอนำเข้าไปในประเทศที่ยังให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ หากถูกจับได้ แม้จะอธิบายว่าไม่ตั้งใจ แต่ก็ต้องโดนโทษหนักมาก ถ้าเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้ มันต้องทำนโยบาย และวางมาตรการอย่างรอบคอบที่สุด แต่ขำย้ำว่า ถึงมันจะยาก แต่พรรคภูมิใจไทยต้องพยายาม” นายอนุทินกล่าว

จากนั้น วันที่ 25 ตุลาคม นายอนุทิน ต้องไปตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรม และแปลงปลูกกัญชาขององค์การฯ จากนั้น นายอนุทิน ย้ำถึงนโยบาย 6 ต้น ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวอีกครั้ง ว่า

“ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อให้ได้สารสกัดน้ำมันกัญชาในระดับ MEDICAL GRADE ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆด้วยความปลอดภัยและมีมาตรฐานในทุกช่วงของกระบวนการผลิต หลังจากนี้ก็จะได้มีการรวบรวมสถิติข้อมูลจากการใช้รักษาโรคเพื่อนำไปสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กัญชาที่พรรคภูมิใจไทยได้เสนอต่อรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว ที่ถามมาว่าปลูกที่บ้าน 6 ต้นอยู่ที่ไหน โกหกหรือเปล่า นี่คือคำตอบ ถ้าประชาชนที่เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ออกมาช่วยกันผลักดัน ก็จะเห็นผลเร็วขึ้น ทุกอย่างผมต้องเน้นความปลอดภัยและทำให้มีสายพันธุ์ที่ให้สารสกัดที่ปลอดภัย ไม่ใช่มั่วเอาอะไรก็ได้”

ชัดเจนว่านโยบาย 6 ต้น มิได้ถูกหลงลืมไปไหน แต่นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย ยังขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา

โดยปัจจบันนี้มีกฏกรอบหลายอย่างที่ ระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติด ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยลงนาม และอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ซึ่ง ยินยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ และป้องกันการรั่วไหลไปยังตลาดมืด ด้วยการส่งรายงานประจำปี แก่ประเทศสมาชิก

การปลดล็อกมี 2 ทาง

ทางหนึ่งไล่แก้กฎกระทรวงทั้งหลาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และถ้าเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย อาจจะเท่ากับพับแผนกลับบ้านได้เลย

อีกทางคือใช้ช่องทางสภา ใช้เสียงของประชาชนออกร่างพระราชบัญญัติบังคับให้ทุกหน่วยงานต้องทำตาม และนี่คือทางเลือกของพรรคภูมิใจไทย ในฐานะของ “พรรคการเมือง” ที่มีเสียงในสภากว่า 50 เสียง

“พรรคภูมิใจไทย” วางแผนเดินหน้านโยบายด้วยการแก้กฎหมาย 2 ฉบับได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) และ 2. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย และปัจจุบันนี้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้เข้าไปอยู่ในสภาแล้ว

สาระสำคัญของร่างแรกคือการให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อรักษาโรค

ส่วนร่างที่ 2 เป็นการตั้งหน่วยงานเพื่อมาดูแลกิจกรรมของกัญชาทั้งหมด

นายศุภชัย ในสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย และมือกฎหมายชั้นเซียนของพรรค ย้ำว่า

“ร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม สาระสำคัญที่มาตรา 26/2 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เว้นแต่ในกรณีเพื่อประโยชน์สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ในกรณีกัญชาซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica) ในวงศ์ Cannabidaceaeให้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยสามารถปลูกเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล  เพื่อการรักษาทาง การแพทย์ผลิต จําหน่าย ได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว ภายใต้การควบคุม กํากับดูแล และการบริหารของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย

ตรงนี้เป็นการแก้ล็อกกฎหมายไทย เปิดทางนโยบาย 6 ต้น ให้คนไทยได้ปลูกเพื่อรักษาตัวเอง แต่ยังมีล็อกของกฎหมายต่างชาติ ที่ต้องคำนึงถึง และเงื่อนไขคือภาครัฐต้องควบคุมการปลูกกัญชา ให้สอดคล้องกับการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย การควบคุมนั้นต้องทำอย่างเข้มงวด มีการทำรายงานส่งอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นประเทศไทย ก็ต้องมีหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมา เป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลกิจการต่างๆที่เกี่ยวกับกัญชา และพืชยาเสพติดต่างๆ ตั้งแต่การอนุญาตให้ปลูก การจำหน่าย การรับซื้อ เป็นต้น”

ต่อความกังวลเรื่องจะมีนายทุนเข้ามาผูกขาดกิจการกัญชา นายศุภชัย อธิบายว่า

“ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย มาตรา 6 ข้อ 2 สถาบัน มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ประชาชนหรือนิติบุคคลในการปลูก ผลิต จําหน่าย นําเข้า ส่งออก ภายใต้ การควบคุมและกํากับดูแล ส่วน ข้อ 3 ซึ่งระบุว่า สถาบัน มีหน้าที่รับซื้อพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เท่ากับสถาบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ผูกขาดการอนุญาตให้ปลูก การผลิต จำหน่าย ไปจนถึงการรับซื้อกัญชา จึงหมดกังวลเรื่องนายทุน”

ตามหลักการแล้ว พรรคภูมิใจไทยกำลังใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ในมือเพื่อผลักดันนโยบาย 6 ต้น ทั้งเรื่องของการ “รีแบรนดิ้งภาพลักษณ์กัญชา” ไปจนถึงใช้ “สภา” ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นอาวุธของฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่อุปสรรคที่น่ากังวลคือ ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น มิได้มีเพียงแต่พรรคภูมิใจไทย ทว่ายังมีฝ่ายอื่นอีกมาก และไม่รู้แน่ชัดว่า แต่ละฝ่ายมองเรื่องของ 6 ต้นไปในทิศทางไหน ใครคิดดี ใครคิดร้าย และแม้กระทั่งในกระทรวงสาธารณสุขเอง กัญชา ก็ยังถือว่าเป็นของใหม่ และมียัง “บางคน” ที่ออกอาการต่อต้านเสียด้วยซ้ำ แม้จะมีผลวิจัยรองรับว่าสามารถใช้บรรเทาความเจ็บป่วยได้จริง

เช่นนี้แล้ว ในการเดินหน้านโยบาย 6 ต้น เพื่อฝ่าแนวต้าน เสียงของประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญ เช่นเดียวกับการผลักดันเรื่องการแบนสารพิษ ที่สำเร็จได้ เพราะพลังการสนับสนุนของประชาชน

จึงไม่น่าแปลกใจที่การสื่อสารของ “นายอนุทิน” ซึ่งเกี่ยวกับนโยบาย 6 ต้น จะมีการขอความร่วมมือจากประชาชนอยู่ตลอด โดยเฉพาะการร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น  อย่าหลงไปเดินทางอื่น เพราะนี่คือหนทางเดียวในการเดินหน้าของนโยบาย 6 ต้น ท่ามกลางแนวต้านที่แม้จะเงียบ แต่ยังเข้มแข็ง

นี่คือความท้าทายของนโยบายกัญชา เป็นความท้าทายบนคำมั่นของ “นายอนุทิน” ว่า “จะทำอย่างสุดความสามารถ” และการรันนโยบาย 6 ต้น จะเดินหน้าทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา หรือวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่