ทันทีที่ทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับสิทธิพิเศษทางการค้ากับไทย อันจะส่งผลต่อการนำเข้า ส่งออกสินค้ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ในห้วงเวลาที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย ตัดสินใจแบน 3 สารพิษ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเจ้าหน้าที่บางนายของสหรัฐฯ ปรากฏว่ามหกรรมจับแพะชนแกะได้บังเกิดขึ้นทันที
โดยมี “สายมโน” หลายท่านชี้ว่า “การแบนสารพิษ” ส่งผลให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า
อย่างไรก็ตาม หากคิดทบทวนจะพบว่า เรื่องการแบนสารพิษนั้น มิใช่เรื่องใหญ่โตขนาดที่ทางการสหรัฐฯต้องเทคแอคชั่น เพราะหากเทียบปริมาณ และมูลค่าการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ต้องเรียกว่าต่ำมาก
โดยพบว่าบริษัทสารเคมีในสหรัฐฯ ส่งออกสารเคมีเข้าไทยน้อยมาก โดยส่งออกพาราควอตเข้าไทยเพียง 0.02 กิโลกรัม ส่วนไกลโฟเซตก็นำเข้ามาเพียง 11 ตัน มูลค่ารวมทั้ง 2 สาร อยู่ที่ 1.3 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น
กลับกันประเทศที่มีการส่งออกสารเคมีเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะพาราควอต และไกลโฟเซตมากที่สุด คือ ประเทศจีน ซึ่งส่งออกพาราควอตให้ไทย ในรอบ 10 ปีประมาณ 280,000 ตัน ไกลโฟเซต 470,000 ตัน มูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่าร้อยละ 89 สำหรับสารเคมีในไทย
ดังนั้น เรื่องแบนสารพิษจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสำหรับทางการสหรัฐฯเลย กลับกันสิ่งที่สหรัฐฯ อ้างถึงคือเรื่องของสิทธิแรงงานสากล หรือเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นอาวุธเด็ดในการ “คอนโทรล” ชาติอื่นๆ ทั่วโลก โดยอ้างเรื่องนี้ ในการแทรกแซง และเข้าจัดการตามที่ใจปราถนา ซึ่งเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นค่านิยม ที่สำคัญอย่างยิ่งของสหรัฐฯชน
ย้อนหลังกลับไปช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องสาละวนกับเรื่องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์หรือ TIPS REPORT ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นฝ่ายประเมิน หากวันนี้ จะต้องรับมือกับเรื่องทำนองเดียวกันก็หาใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะนี่คือกลยุทธ์ของ “พญาอินทรี” อยู่แต่เดิม
โดยเฉพาะการเข้ามาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนโยบายบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” ยิ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่า นี่คือยุคที่สหรัฐฯ จะต้องปกป้องตัวเอง และเรียกคืนสิ่งที่เคยให้ กลับบ้านให้หมด ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้น นับตั้งแต่ความพยายามสร้างกำแพงบริเวณชายแดนเม็กซิโก ไปจนถึงการกีดกันทางการค้ากับนานาชาติทั่วโลก หนักข้อถึงขั้นเปิดสงครามภาษีกับจีน
สำหรับการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าล่าสุด ไทยก็ไม่ใช่ชาติเดียวที่เป็นเป้าหมาย เพราะอินเดีย และตุรกี ก็เพิ่งถูกตัดสิทธิ์ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่มี โบลิเวีย อิรัก ยูเครน อุสเบกิสถาน ก็อยู่ในสถานการณ์ลุ่มๆดอนๆ กลับมามองที่เพื่อนบ้านของไทย สหรัฐฯ มีข่าวเตรียมทบทวนเรื่องสิทธิ์พิเศษกับเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ทั้งที่ทั้งหมดคือแนวรบในทะเลจีนใต้ แต่สหรัฐฯ ก็มิได้ยี่หระ แล้วนับประสาอะไรกับประเทศไทย
ส่วนประเทศไทยเอง สิ่งที่กำลังเผชิญ ไม่ใช่ประสบการณ์ครั้งแรก เพราะนับตั้งแต่ไทยถูกยกระดับเป็นประเทศชั้นกลางระดับล่าง ประชาชนมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น ก็ถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากับ สหภาพยุโรป รัสเซีย สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้น
ย้อนกลับไปในปี 2560 สหรัฐฯ มีแผนการตอบโต้ 16 ชาติ ที่ได้ดุลการค้าสหรัฐตลอดกาล ได้แก่ ประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก ไอร์แลนด์ เวียดนาม อิตาลี เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย ไทย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และแคนาดา
ซึ่งหลายประเทศในนี้ ต่างก็โดนสหรัฐฯกดดันมาหมดแล้ว แต่ปรากฏว่าตัวเลขการค้าของสหรัฐฯ ล่าสุดพุ่งไปถึง 19.7 ล้านล้านบาท สูงสุดรอบ 10 ปี
เมื่อนำทุกสถานการณ์มาบวกกัน จึงเป็นไม่ได้ที่ไทยจะรอดพ้นจากนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ทรัมป์ก็ยิ่งเอาจริงเอาจังมากขึ้น
นี่คือการกดดันทางการค้าระลอกแรกเท่านั้น มั่นใจว่า ยังมีเกมต่อเนื่องตามมาอีกมาก
เป็นเรื่องราวของเกมการค้าระหว่างประเทศ ที่ไม่เกี่ยวอันใดกับเรื่องแบนสารพิษ
แม้แต่น้อย !!!
Ringsideการเมือง