“เราเป็นคนไทย ก็ต้องเชื่อมั่นในสินค้าไทย และเชื่อมั่นในตลาดโลก”
อนุทิน ชาญวีรกูล
28 ตุลาคม 2562
ผู้เขียนมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยคือสำนึกของ “ความเป็นชาตินิยม” ที่ดูเจือจางลงมากในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนึกดังกล่าว มิได้หมายถึง “ความคลุ้มคลั่ง” อย่างที่หลายคนกังวล
แต่เป็นความสำนึกทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ในเงื่อนไขว่า ท่ามกลางตัวเลือกมากมาย แต่ของไทยต้องมาก่อน เป็นสำนึกที่สร้างชาติเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมัน และประเทศโลกที่ 1 จากทั่วโลก
หากย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสหรัฐฯ ออกแคมเปญส่งออกวัฒนธรรม POP CULTURE ภายใต้วลีสั้นๆ “MADE IN USA” เป็นตัวแทนของความเท่ ดุดัน และล้ำสมัย หาใดเปรียบปาน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเดินรอยตาม ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของความล้ำยุค น้ำหนักเบา ขนาดเล็ก คุณภาพเยี่ยม ในราคาที่ถูกกว่า ลุยตลาดทั่วโลก ซึ่งประสบความสำเร็จมหาศาล
ถึงแม้ปัจจุบันก็ตาม สินค้าที่ปักป้าย MADE IN USA ก็ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งที่ความจริง สินค้าหลายชนิด ผลิตในประเทศรอบบ้านไทย ก่อนจะส่งไปติดแบรนด์ยังเมืองลุงแซมนี่เอง
กลับมาที่ประเทศไทย ด้วยความกำซาบสินค้า ค่านิยม เทคโนโลยี จากต่างชาติมาทุกยุคทุกสมัย จึงไม่ต้องแปลกใจ ในความปลื้มของนอก บวกกับการปล่อยให้ของนอกเข้ามาตีตลาดไทยอย่างมากมายมหาศาล ด้วยเพราะยุทธศาสตร์การเมืองแบบเน้นการเจรจา ด้วยสำเหนียกถึงพลังอำนาจที่มีจำกัด
แม้ของนอกจะเป็นทางเลือกให้กับคนไทย แต่ต้องยอมรับว่า มันได้ปิดโอกาสการเติบโตของธุรกิจไทย ในประเทศเราเองอย่างน่าเสียดาย
กลายเป็นผู้ประกอบการไทย ต้องดิ้นรนไปขายของให้ต่างชาติ เข้าสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ไม่รู้ตัว ข้อมูลเปิดเผยว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเกือบ 70% ของ GDP โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 12%
เราอิงหลังกับคนอื่นมากไปหรือไม่ ?
ที่สุดแล้ว สภาพของผู้ประกอบการไทย และเศรษฐกิจไทย จึงไม่ต่างจากสำนวนที่ว่า “จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด”
ระหว่างนั้น ผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก สามารถดัดแปลงของนอกมาเป็นของไทยได้ เทคโนโลยีหลายอย่างที่ว่าก้าวล้ำ คนไทยสามารถบรรลุ มาผลิตด้วยน้ำมือชาวสยาม แต่เป้าหมายการขายยังเป็นต่างชาติ เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อย นิยมเสพแบรนด์ต่างชาติ ไปจนถึงยี้แบรนด์ไทย
อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาที่คนไทยต้องสำนึกถึงคุณค่าของตัวเอง เพราะล่าสุดกระแสโลก ได้ถอยห่างจากคุณค่าแห่งโลกาภิวัฒน์ แทนที่ด้วยกระแสชาตินิยม นำหน้าโดยสหรัฐฯ ที่เริ่มแทรกแซงการค้าโลก เรียกคืนเงินกลับประเทศ ผ่านการกีดกันทางการค้าในหลายช่องทาง
แม้กระทั่งประเทศไทย ยังได้รับผลกระทบล่าสุด ถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ GSP กระทบกับเม็ดเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยคนไทยกุมขมับกับสิ่งที่ต้องเผชิญ โดยลืมนึกไปว่า แท้ที่จริงแล้ว การพึ่งพาตนเอง คือหลักการดำรงอยู่ที่ “มั่นคง” ที่สุด
เราไม่ได้ไร้เงินออมในประเทศเสียทีเดียว กลับกันประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากถึง 6.7 พันล้านบาท ด้วยเงินออมมากมายขนาดนี้ ชัดเจนว่า ประเทศไทยมี “กำลังซื้อ” แน่นอน
แล้วทำไมไม่ซื้อของคนไทยเล่า ???
สำหรับสหรัฐอเมริกา ถึงเคยเชียร์การค้าเสรีสุดตัว แต่มาวันนี้กลับชูนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” กีดกันการค้า หาประโยชน์ เลยเถิดไปถึงขั้นลิสต์ 16 ประเทศได้ดุลลุงแซมตลอดกาล ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
จึงอย่าแปลกใจ หากสหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษบางอย่าง ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตในประเทศ ให้มีศักยภาพสู้กับสินค้าไทยที่เข้าไปตีตลาด แน่นอนว่าหากเป็นคนในชาติ ก็ต้องปรบมือให้ อย่างน้อยก็เห็นคุณค่าของอเมริกันชน
ประเทศไทย ต้องปรับตัวให้ทันโลก หากย้อนอ่านความคิด จะพบว่า คนที่มองเกมขาดคนหนึ่ง น่าจะเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” เพราะพูดเรื่อง “ไทยแลนด์ เฟิร์ส” ตั้งแต่ช่วงหาเสียง จนถึงปัจจุบันนี้ ยังยืนยันคำเดิม ว่าคนไทย ต้องช่วยอุดหนุนของไทย เพิ่มความต้องการของคนในชาติ ลดการพึ่งพาประเทศอื่น
และไม่ใช่เพียงแต่วอนขอแค่ภาคประชาชน แต่ภาครัฐเอง ก็ต้องสนใจเรื่องดังกล่าวด้วย การใช้งบประมาณ ถ้าใช้ของไทย จ้างคนไทย ให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ ย่อมดีกว่าการเอาเงินไปให้ต่างชาติ
ล่าสุด พูดย้ำอีกครั้ง
“เราเป็นคนไทย ก็ต้องเชื่อมั่นในสินค้าไทย และเชื่อมั่นในตลาดโลก”
“หากของไทยดีจริง เดี๋ยวผู้บนโภคทางนั้น เขาจะส่งเสียงเอง”
ไม่รู้ว่าเสียงของ “รองฯหนู” จะมีพลังแค่ไหน แต่ถ้าเทียบว่านี่คือคนที่เป็นแกนหลักเรื่องแบนสารพิษ และการเซ็นสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งที่สุดแล้ว “รองฯหนู” ก็เอาจนสำเร็จ
เชื่อว่านโยบาย “ไทยแลนด์ เฟิร์ส” มีลุ้น
Ringsideการเมือง