เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ณ หอประชุมอิหม่าม อัล-นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่และรองประธานกรรมาธิการ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ โฆษกกรรมาธิการ นายนิรมิต สุจารี ส.ส.พรรคเพื่อไทย โฆษกกรรมาธิการ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาชาติ เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นคณะกรรมาธิการ และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสวนาเปิดเวทีรับฟังปัญหาด้านกฎหมายรวมถึงสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผศ.กุสุมา กูใหญ่ และอสมา มังกรชัย อาจารย์มอ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในเวทีเสวนาครั้งนี้นายปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฏร วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเดินทางมามอ.ปัตตานี เรากลับมาสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มีสภาผู้แทนราษฏรเกิดขึ้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมา 35 คณะ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ 3 เรื่องใหญ่ๆของคณะกรรมาธิการนี้คือ ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและเรื่องของสิทธิมนุษยชน ในวาระที่ตนได้รับโอกาสเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการก็ตั้งใจเอาไว้ว่า จะใช้กลไกลของคณะกรรมาธิการสามัญชุดนี้ขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นดังกล่าวให้เกิดผลอย่างมากที่สุด เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การปกครองของคณะคสช. ประเทศไทยมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย มีประกาศคำสั่งของคสช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม และตลอด 5 ปีของคสช. ก็มีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน แต่ในระยะหลัง เมื่อเกิดรัฐประหาร สิทธิมนุษยชนก็ลดน้อยถอยลงทุกที
“คณะกรรมาธิการที่มาในวันนี้ต่างเป็นผู้แทนของราษฏร ราษฏรเป็นผู้เลือกขึ้นมา ดังนั้นพันธกิจที่สำคัญก็คือ เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชน ดังนั้นการเดินทางมาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จึงเป็นบทบาทที่สำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เราต้องการเดินทางมารับฟังปัญหาที่ประชาชนประสบพบเจอ เราใช้คำว่ากรรมาธิการพบประชาชน เพราะตั้งใจว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะเดินทางไปทุกๆภาคของประเทศไทย เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาของประชาชนให้ได้มากที่สุด ภายใต้บรรยากาศที่ประเทศกำลังรื้อฟื้นประชาธิปไตยกลับมา ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ที่อาจกังวลใจว่า หากแสดงออกอาจจะถูกดำเนินคดีต่างๆ แต่ในตอนนี้ระบบเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ผมคิดว่าการเปิดเวทีเสวนาแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยก็เป็นการสื่อสารภายใต้สภาวการณ์ปกติที่ทุกท่านมีสิทธิเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออกได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ปิยบุตร กล่าว
ปิยบุตร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ตนเลือก มอ.ปัตตานี เป็นที่แรกในการเดินสายพบประชาชนของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพราะในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของรัฐตามกฎหมายพิเศษ กฎหมายความมั่นคงต่างๆ ดังนั้นเราจึงเลือกที่นี่เป็นที่แห่งแรก เพราะเชื่อได้ว่าจะได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปผลักดันในประเด็นต่างๆในชั้นสภาผู้แทนราษฏรต่อไป
ด้านพรรณิการ์ กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความทับซ้อนกันเป็นอย่างมาก ปัญหาความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจน คือการซ้อม การทรมาน การกักคน 7 วัน ต่อเนื่องยาวนาน 30 วัน หรือแม้แต่การอุ้มหาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงความไม่ไว้วางใจกันระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่ปัญหาที่ทับไปอีกชั้นหนึ่งก็คือ การพรากสิทธิที่จะเติบโตตามศักยภาพของพื้นที่ ตนมาแต่ละครั้งไม่ได้ไปพบแต่ผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่บาดเจ็บ หรือญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังได้ไปรับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ คามสวยงามและศักยภาพในพื้นที่
“คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่มอง 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยคิดถึงแต่ปัญหาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ชายหาดหรืออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเติบโตได้แค่ไหนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นี่คือสิ่งที่ถูกกดทับภายใต้ปัญหาความรุนแรง นี่คือความสูญเสียที่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เป็นการสูญเสียของประเทศ เรามีความจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้คนทั้งประเทศเห็น วันนี้ตนมีความเชื่อส่วนตัวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนใต้ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่เวลาล่วงเลยมากว่า 15 ปี เป็นเพราะว่าคนในประเทศไทยไม่ได้มองว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น ‘ปัญหาของเรา‘ แต่มองว่าเป็น ‘ปัญหาของคุณ‘ ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า จังหวัดชายแดนใต้คือพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่ดี มีอาหารที่อร่อย มีคนที่น่ารัก ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ เราต้องทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า คุณกำลังสูญเสียอะไรบ้างในปัญหาชายแดนภาคใต้ และเราทุกคนจำเป็นต้องแก้ปัญหาร่วมกัน” พรรณิการ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเสวนา ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมถาม-ตอบ ถึงปัญหาด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาท่านหนึ่งได้สะท้อนปัญหาว่า การมีกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวปัญหาทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขอเรียกร้องและขอความอนุเคราะห์ผ่านคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ไปยังผู้มีอำนาจ ขอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ เนื่องจากหากคนใดคนหนึ่งในครอบครัวถูกตัดสินจากกฎหมายพิเศษ คนครอบครัวนั้นก็เดือดร้อนตามไปด้วย ดังนั้นการถูกตัดสินจากกฎหมายพิเศษ คือการตัดสินชะตาชีวิตของครอบครัวนั้นๆไปด้วย
นอกจากนี้ ในเวทียังมีการยื่นข้อร้องเรียนต่างๆอีกหลายปัญหาเช่นการเวนคืนพื้นที่ทำกินชาวบ้านเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพญา จ.ยะลา การร้องเรียนเรื่องการที่กอ.รมน. ขอให้ประชาชนในสามจังหวัดลงทะเบียนซิมการ์ดแบบสองแชะ มิฉะนั้นจะถูกตัดสัญญาณหลังวันที่ 31 ตุลาคม รวมถึงการร้องเรียนเรื่องการเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการร้องเรียนสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดในเรือนจำกลางปัตตานี