หน้าแรก Article “กัญชง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ! “ความสำเร็จ” ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

“กัญชง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ! “ความสำเร็จ” ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

0
“กัญชง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ! “ความสำเร็จ” ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
Sharing

กัญชงถือเป็นพืชเสพติดที่สังคมเริ่มให้ความสนใจในฐานะพืชเศรษฐกิจ ด้วยสรรพคุณนานับประการ อาทิ เปลือก ใช้ทำเป็นเส้นใย, เนื้อของลำต้นสามารถนำไปทำเป็นกระดาษ, แกนต้น มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น, เมล็ดนำไปสกัดเป็นน้ำมันใช้เพื่อการบริโภค

ประเทศที่เป็นผู้นำเรื่องการใช้กัญชงคือญี่ปุ่น ที่พัฒนาองค์ความรู้มานับ 100 ปี อย่างไรก็ตามคุณประโยชน์เหล่านี้ส่งผลให้หลายประเทศเดินรอยตาม

โดยคุณประโยชน์ของกัญชง จะสร้างมูลค่าให้กับ 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอย่างมหาศาล ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม(Super Food)

กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่เช่นซูเปอร์คาพาซิเตอร์(Super Capacitor)เป็นต้น

แต่ด้วยข้อเท็จจริงคือในกัญชง มีสารก่อให้เกิดฤทธิ์เสพติด ดังนั้น สำหรับกฎหมายไทย กัญชงจึงจัดอยู่ในพืชเสพติดประเภทที่ 5 ทว่าจุดแข็ง หรือโอกาสของกัญชงในการขึ้นมาอยู่บนดิน คือ กระแสต้านกัญชงมีน้อย และที่สำคัญเมื่อพลิกอ่านกฎหมาย แม้กัญชงถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ประกอบการขอนุญาตเฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2559

แต่สำหรับกัญชง (Hemp) ที่มีสาร THC ไม่เกิน 1% สามารถขออนุญาต ผลิต (ปลูก) ครอบครอง จำหน่าย ได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจุดประสงค์พัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ จากครัวเรือน ไปสู่อุตสาหกรรม สิ่งทอ เสื้อผ้า ก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

เท่ากับกฎหมายยังพอมีช่องให้กัญชง กลายเป็นโอกาสสำหรับคนไทย

นี่คือโอกาส ซึ่ง “พรรคภูมิใจไทย” มองเห็นว่าจะสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน และเป็นการสร้างคะแนนนิยมให้พรรค

ดังนั้น อย่าแปลกใจหากนับตั้งแต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล  หัวหน้าพรรคได้ก้าวขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ชื่อของ “กัญชง” จะค่อยๆ ปรากฏตามหน้าสื่อ

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ในรอบปีนี้ มีความพยายามแก้ไขกฎกรอบเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชงในวงกว้าง ได้แก่ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2)”

และ “ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562”

สาระสำคัญ ยังคงกำหนดให้กัญชง เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

แต่เนื่องจากพบว่ากัญชงมีสารที่ใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงกำหนดลักษณะของกัญชงที่ถูกกฎหมาย ต้องมีสาร THC ในเมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 0.3% และในใบและดอกกัญชงไม่เกิน 0.5%

นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้นำส่วนเมล็ดกัญชง และน้ำมันจากเมล็ด ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร

และ ให้น้ำมันจากเมล็ดและสารสกัดจากเมล็ดใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง

ที่สำคัญ ใน 5 ปีแรกสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ของนำเข้าเข้ามา

อย่างไรก็ตามการกำหนดปริมาณสาร THC ให้เหลือปริมาณข้างต้น ถูกมองว่าเป็นความพยายามกีดกันสายพันธุ์กัญชงไทย ซึ่งมีสาร THC สูง จึงมีการนำเรื่องนี้กลับไปหารือ

กระทั่งที่สุดแล้ว มีการลดข้อจำกัดที่เข้มงวด เพื่อเปิดโอกาสให้สายพันธุ์กัญชงจำนวนมากได้ใช้ประโยชน์

จนมีประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นฉบับใหม่

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้  คือ

กำหนดให้กัญชง ต้องมีสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้งในการตรวจวิเคราะห์ และเมล็ดพันธุ์กัญชงให้มีสารทีเอชซีไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้ง โดยการตรวจวิเคราะห์ และเป็นพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช โดยประกาศฉบับนี้จะไม่บังคับใช้กรณีกัญชงที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ และเมล็ดพันธุ์ที่รับรองแล้วก่อนประกาศมีผลบังคับใช้

ใจความสำคัญคือเป็นการเฟ้นหาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรอง ซึ่งต้องมีค่าของสารสำคัญตามที่กำหนด สำหรับใช้พัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

แต่การให้ประชาชนปลูกนั้น ต้องรอกฎหมายอีกฉบับมาเติมเต็ม

โดย อย.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้นำขึ้นรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. – 5 พ.ย. 2562 และได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ระบุว่า มาช่วยกันร่างกฎกระทรวง ปลูกกัญชง ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องประชาชน ก่อนออกกฎหมายใดๆ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย.กำลังจัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย กัญชง (ซึ่งก็คือพืชสายพันธุ์เดียวกับ กัญชา แต่มีสารสำคัญ คือ CBD สูง THC ต่ำ และมีความต้องการใช้สูงมาก ในทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และ เครื่องสำอาง)

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ ก็คือ ประชาชน และ เอกชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชง ได้ โดยไม่ต้องร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และ ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย ตามประเพณี วัฒนธรรม ตามวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวได้ ครัวเรือนละ ไม่เกิน 1 ไร่ นี่เป็นร่างกฎกระทรวงที่ดำเนินการตามแนวนโยบาย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

เป้าหมายของร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ คือ การทำให้กัญชง หรือ กัญชาที่มีสารสำคัญ CBD สูง และ THC ต่ำ เป็นพืชเศรษฐกิจ ตัวใหม่ สำหรับเกษตรกร แต่เนื่องจากขณะนี้ กัญชง ซึ่งก็คือกัญชาสายพันธุ์หนึ่ง ยังเป็นพืชที่ถูกกำหนดให้อยู่ในพรบ.ยาเสพติด จึงยังต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มีหลายขั้นตอนต้องทำ และ ทำได้ ดีกว่าไม่มีโอกาสได้ทำ

ทั้งนี้ ในตอนท้าย นายอนุทินได้เชิญชวนประชาชนและผู้สนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้

“เรียน หน่วยงาน/ผู้เกี่ยวข้อง/ผู้สนใจ

อย.ได้จัดทำ (ร่าง) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ….
และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์

http://www.fda.moph.go.th/…/SitePag…/ViewPublicHearing.aspx…

หากมีประเด็นหรือข้อคิดเห็น ทุกท่านสามารถเข้าไปให้ความคิดเห็นได้ โดยหมดเขตรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562

ขอขอบคุณทุกท่าน”

ชัดเจนว่าเรื่อง “กัญชง” นายอนุทิน กำลังเดินหน้าผลักดัน และเมื่อมีช่องว่างทางกฎหมาย ที่เขียนเปิดช่องไว้ตั้งแต่ปี 2559 บวกกับกระแสต้านหน่อยกว่า

จึงมีโอกาสไม่น้อยที่ “กัญชง” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ในไม่ช้า

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่