หน้าแรก Article ความท้าทาย ของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”

ความท้าทาย ของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”

0
ความท้าทาย ของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”
Sharing

เก็บฉากกับการชุมนุมครั้งที่ 3 ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดขึ้นบริเวณหน้าหอประชุม ม.ธรรมศาสตร์ ที่ FB “Ringsideการเมือง” ถ่ายทอดสด ส่งตรงถึงบ้าน

ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถอดแบบการจัดกิจกรรมมาจากการชุมนุมขนาดใหญ่ ทั้งเหลือง และแดง เพียงแต่เปลี่ยนหน้า คนขึ้นเวที และทำได้อย่าง “มืออาชีพ”

มีการปราศรัยเลี้ยงคนดู ท่ามกลางฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ การจัดสรรเวลา และระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีในระดับหนึ่ง

ความคาดหวังของ “จ่านิว” “โรม” “โตโต้” “เพนกวิน” และอีกหลายคนที่เอาหัวพาดเขียง คือ ต้องปลุกมวลชนให้ “ปรากฏตัว” ออกมาร่วมสู้

แต่เป้าหมาย ยังอยู่ห่างไกลความจริง หาใช่เพราะมีการตั้งแง่ว่าเป็น “ม็อบรับจ้าง” หรือพวกหน้าเดิม แต่ด้วยเพราะสังคมไทย สามารถปรับตัวได้กับการเมืองในรูปแบบปัจจุบัน

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าว กับรายการ “Ringsideการเมือง” ว่า

“ตราบที่คนไทย ยังกินอิ่ม นอนหลับ พวกเขาสามารถอยู่ได้กับทุกสถานการณ์ จะไปหวังว่าเขาจะลุกขึ้นมาสู้แบบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมว่าเลิกหวังได้เลย เพราะคนยุคนั้น มันแร้นแค้นมาก ต้องต่อคิวซื้อข้าวสาร ยุคนี้ มันต่างกัน อย่างไรเขาก็อยู่ได้”

สอดคล้องกับนักวิชาการรุ่นเล็กอย่าง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า ที่ระบุว่า

“คสช. เขาไม่ได้มาตัวเปล่า เขาพกความรู้ พกประสบการณ์มาด้วย เขารู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อประคองตัวให้อยู่ไปได้ วันไหนที่เขารู้สึกว่าคะแนนนิยมเขาไม่ดี เขาก็ทำโครงการ หว่านงบประมาณลงไปสิ 2 พันล้านบาท 3 พันล้านบาท ให้มันถึงมือชาวบ้าน ชาวบ้านชอบ”

ยิ่งถ้าไปประเมินร่วมกับความเห็นของ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม. รามคำแหง ที่ย้ำว่า รัฐบาล และ คสช. มีกองหนุนใหม่มาเพิ่ม และเป็นคำตอบว่าทำไม “บิ๊กป้อม” ถึงอยู่ต่อได้

เท่ากับชัดเจนว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน มากด้วยความเก๋า และตัวช่วยทางการเมือง

ไม่นับรวมการมีฝ่ายข้าราชการอยู่ในมือ ที่สามารถสร้างภาระทางคดีความกับอีกฝ่ายได้ไม่ยาก

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างความ “เบื่อหน่าย” ให้กับคนไทย แม้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปกครองในระบอบอำนาจพิเศษ ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้โตอย่างเต็มที่ได้ เพราะมีการตั้งแง่จากนานาชาติ

กระนั้น คนไทย ไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง ในภาวะ ที่ยังไม่เห็นอนาคตที่สดใสกว่า

สำหรับฝ่ายการเมือง ชัดเจนว่า ต้องการเลือกตั้ง สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มอยากเลือกตั้ง แต่การเฮโล มาร่วมด้วยสุดตัว ย่อมมีความเสี่ยง เพราะหากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีความผิด หมายถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุน มีความผิดไปด้วย

โทษหนัก อาจไปถึง “ยุบพรรค”

ทำดีที่สุดแค่เพียงพูดตาม “หลักการ” และหวังว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะรับฟัง เท่านี้ เช่นที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กับรายการ Ringsideการเมืองว่า

“ผมไม่คิดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเป็นการไปกดดันใคร แต่เป็นการแสดงความคิดเห็น ที่สามารถทำได้ หากไม่ทำผิดกฎหมาย และเมื่อมันเป็นข้อเรียกร้อง รัฐบาลก็ต้องฟัง ก็เหมือนกับการเรียกร้องราคาสินค้าเกษตร การเรียกร้องความยุติธรรม รัฐบาลต้องฟัง”

เท่านี้ ก็ถือว่า “กล้า” มากแล้ว

จะเห็นว่าอีเว้นท์การเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เต็มไปด้วยอุปสรรค และมีความท้าทายอย่างยิ่ง

แต่อย่าลืมว่าในทางการเมืองนั้น “ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน”

ขอบคุณภาพ : ไทยรัฐ

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่