ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าสถานการณ์การย้ายโรงงานการผลิตกลับประเทศของทุนญี่ปุ่น ส่งผลกระทบทั่วภูมิภาคเอเชีย แต่ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า เพราะเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลเอเชีย
ขณะเดียวกันก็มีความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งและล่าสุดก็ไม่สามารถสรรหา กกต. ได้ สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการไหลออกของการย้ายฐานการผลิตและเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น
เงินเยนที่อ่อนค่าลง ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ AI ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะลดจำนวนโรงงาน ในต่างประเทศ ลดจำนวนคน และแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เพื่อลดค่าใช้จ่าย
กระแสการไหลย้อนกลับของการลงทุนจากทุนข้ามชาติจะไม่เกิดเฉพาะกรณีญี่ปุ่นเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นกับประเทศที่มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีการผลิตมากอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และยุโรปบางประเทศอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ
นอกจากนั้น นโยบายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯซึ่งจะลดภาษีทั้งนิติบุคคล (ลดจาก 35% เหลือ 21%) และบุคคลธรรมดาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและน่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก หมายรวมถึงการที่ทุนสหรัฐ จะไหลกลับประเทศแม่มากยิ่งขึ้น
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าอยากให้ทางการไทยติดตามความคืบหน้าข้อตกลงทางการค้า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเวลานี้ “ไทย” ตกขบวนไปแล้วและไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้เราไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างประเทศจากกลุ่มประเทศ CPTPP โดยมูลค่าส่งออกจากไทยไปยังประเทศสมาชิก CTPTT อยู่ที่ประมาณ 20% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หากไทยไม่ติดตามความคืบหน้าและผลกระทบจากข้อตกลงดังกล่าวให้ดี เราอาจสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้