หน้าแรก Article ไม่อยากเห็นใครถูกจับเพราะความไม่รู้ ! “มนัญญา” สั่งทุกหน่วยทำความเข้าใจเกษตรกร หลังเดินหน้ามาตรการแบนสารพิษ

ไม่อยากเห็นใครถูกจับเพราะความไม่รู้ ! “มนัญญา” สั่งทุกหน่วยทำความเข้าใจเกษตรกร หลังเดินหน้ามาตรการแบนสารพิษ

0
ไม่อยากเห็นใครถูกจับเพราะความไม่รู้ ! “มนัญญา” สั่งทุกหน่วยทำความเข้าใจเกษตรกร หลังเดินหน้ามาตรการแบนสารพิษ
Sharing

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งกรมวิชาการเกษตรเรื่อง การแจ้งการครอบครองและการส่งมอบสารเคมี 3 ชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ โดยผู้ที่ครอบครองต้องแจ้งกรมวิชาการเกษตรภายใน 15 วันหลังจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จากนั้นต้องส่งมอบภายใน 15 วันเพื่อทำลาย

โดยคำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 คำสั่งดังกล่าวลงนามโดยน.ส. เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยในคำสั่งนั้น มีรายละเอียดในข้อ 1 ระบุถึงวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ประกอบด้วย กลุ่มไกลโฟเซตได้แก่ เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต โซเดียม ไกลโฟเซต ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต ไตรมีเซียม ไกลโฟเซต โพแทสเซียม ไกลโฟเซต โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต และโมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต กลุ่มคลอร์ไพริฟอสได้แก่ ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล ส่วนกลุ่มพาราควอตได้แก่ พาราควอตคลอไรด์และพาราควอตไดคลอไรด์

ส่วนข้อ 2 กำหนดให้ผู้ครอบครองต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ครอบครองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 เขตในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา และข้อ 3 ต้องส่งมอบแก่หน่วยงานที่กำหนดหลังแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน

ล่าสุด น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย และเกษตรกรที่ครอบครอง 3 สารทราบวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องจึงจะประชุมสารวัตรเกษตรและอาสาสมัครสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ข้อควรปฏิบัติหลังการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยก่อนวันที่ 1 ธ.ค.ต้องไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้ส่งคืนบริษัท

ในวันที่  22 พ.ย. จะประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ 300 กว่าคน เวลา10.00น.เพื่อรับทราบแนวทางในการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนที่มีสารทั้ง 3 ตัวในครอบครองว่าต้องไปส่งคืนบริษัทหรือร้านค้าหรือเอเยนต์สายส่ง เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62  เป็นต้นไปใครครอบครองสารทั้ง 3 ตัวมีความผิดตามกฎหมายและโทษหนักจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับเป็นแสนเป็นล้านบาท  จึงไม่อยากให้มีภาพเกษตรกรโดนจับเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

“ที่เป็นห่วงที่สุดคือเกษตรกร ได้สั่งการให้หน่วยงานในทุกพื้นที่ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเกษตรกร แม้จะโดยประมาทก็มีโทษปรับสูงไม่เกิน 800,000 บาท หากจงใจฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้เน้นย้ำอย่าให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเกษตรกร”น.ส.มนัญญา กล่าว

น.ส. มนัญญา กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 เขตทั่วประเทศแจ้งสตอกล่าสุดของสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสภายในพื้นที่ส่งให้สคว. มาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งให้จัดทำแผนการรับแจ้งและเก็บรวบรวมเพื่อจะนำเสนอคณะทำงานของกระทรวงฯ ติดตามการทำลายสาร

สำหรับค่าทำลายสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง ตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย มาตรา 52 วรรคท้าย ซึ่งในวันที่ 21 พ.ย. นี้ จะเชิญบริษัทค้าสารเคมีนำเข้า ส่งออก มาประชุมเพื่อจะได้กำหนดแนวทางการรับคืนสารเคมี จากเกษตรกร  จากร้านผู้แทนจำหน่าย รวมทั้งการส่งออกกลับไปประเทศอื่นหรือประเทศต้นทาง  เพราะหลังวันที่  1 ธ.ค. 2562 ต้องไม่มีสารเหล่านี้ในประเทศไทยอีก   และสารเคมีเหล่านั้นเป็นภาระบริษัทเอกชนที่นำเข้า ต้องรับผิดชอบในการส่งกลับไปต้นทาง หรือการทำลายตามกฎหมาย  และไม่สามารถเอาเงินหลวงไปใช้ในการทำลาย

ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำแบบรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. … หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ปรับสถานะสารเคมี 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครอง ภายในวันที่ 1 ธันวาคม2562

ทั้งนี้เมื่อร่างประกาศบังคับใช้  ได้กำหนดห้าม ผู้ผลิต ผู้นำเข้า  ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองอย่างเด็ดขาด ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่  4 ตามประกาศนี้ที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่ประกาศมีผลบังคับใช้


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่