หน้าแรก Article ยกกรณี “แต่งชุดขาวรอเก้อ” เตือนใจป๋าดัน “บิ๊กตู่”

ยกกรณี “แต่งชุดขาวรอเก้อ” เตือนใจป๋าดัน “บิ๊กตู่”

0
ยกกรณี “แต่งชุดขาวรอเก้อ” เตือนใจป๋าดัน “บิ๊กตู่”
Sharing

พรรคใหม่ จดจองชื่อกันคึกคัก การเมือง กับการเลือกตั้งเดินทางสู่จุดเริ่มต้นของการบรรจบ

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคะแนนความนิยมของรัฐบาล อาจไม่เพียงพอต่อการพาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ตามความคาดหวังของใครหลายคน

มกราคม พ.ศ. 2561 สวนดุสิตเผยผลสำรวจ ประชาชนให้คะแนนรัฐบาลพลเอกประยุทธ 5.35 คะแนน ถือว่ายังสอบผ่าน เป็นการสอบผ่านแบบเฉียดฉิว และคะแนนลดลงมาอย่างยิ่งเมื่อเทียบจากการผลโพลเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ที่ได้คะแนนถึง 7.91

นับว่ากระแสนิยมของรัฐบาลลดลงมาอย่างน่ากลัว

แต่จุดแข็งคือ ความเข้มแข็งทางการเมือง ที่ยังมากด้วยอำนาจและบริวาร และด้วยปัจจัยอย่างหลังนี่เอง ที่หลายฝ่ายมองว่า น่าจะพาให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ด้วยสูตร สว. 250 คน ร่วมโหวตกับพรรคพันธมิตร แถมยังสามารถดึงกระแสช่วงท้ายปี หลังโครงการไทยนิยมผลิดอกออกผล

ทว่าการเมืองไทย มีสัจธรรมคือ “ความแน่นอน” คือ “ความไม่แน่นอน”

อะไรที่ว่าชัวร์ ก็อาจจะไม่ชัวร์ และเรื่องทำนองที่ว่า ก็เคยมีเหตุการณ์มาแล้ว

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2534

หลังการขึ้นมาของ รสช. จากการยึดอำนาจพลเอกชาติชาย “พรรคชาติไทย” ต้องการเชื่อมสัมพันธ์กับฝ่ายทหาร จึงเชิญพล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ มาเป็นสมาชิกพรรค

จากนั้น เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกประชาชนกดดันให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะนั้น พล.อ.อ.สมบุญ ได้ถูกยกให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ต่อจากพล.อ.สุจินดา เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากบิ๊กทหารและพรรคการเมืองผู้กุมเสียงข้างมากในสภาฯ อาทิ “พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี” แกนนำรสช.คนสำคัญ

พล.อ.อ.สมบุญ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าตัวเองได้เป็นผู้นำประเทศคนต่อไปสะท้อนได้จากการแต่งตัวด้วยชุดสีขาวเต็มยศเพื่อเตรียมรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภา มีหน้าที่นำชื่อนายกขึ้นทูลเกล้าฯ เปลี่ยนใจเสนอนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

กลายเป็นตำนานการเมืองแต่งชุดขาวรอเก้อ

เป็นตัวอย่างของคำว่าการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน

สำหรับ “บิ๊กตู่” แม้วันนี้โอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง จะสูงลิ่ว เพราะมี สว. 250 เสียงช่วยดัน

แต่สิ่งที่ยังไม่ชัวร์คือ ในส่วนของพรรคการเมืองที่มาร่วมด้วยช่วยกัน

เพราะนอกจากพรรค กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรคพลังชาติไทยของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่มีนายแพทย์ ระวี มาศฉมาดล เป็นแกนนำ อาจรวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่มีทีมเศรษฐกิจยุค “บิ๊กตู่” อย่าง “อุตตม สาวนายน” เป็นแบ็ค

ไม่ยักมีพรรคไหน บอกอยากจะมาร่วมด้วย 

มาถึงบรรทัดนี้ ฝ่ายกองเชียร์ คสช. ต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองหน้าเก่า ที่ทรงพลังในแต่ละพื้นที่ ต้องเดินตามความต้องการของประชาชน หาก คสช. ไม่เป็นที่ปราถนาของประชาชน ย่อมไม่เป็นที่ปราถนาของพรรคการเมืองเก่าเช่นกัน ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ คสช. ต้องเร่งตีตื้นทำคะแนนนิยมจากฝ่ายประชาชน

เหล่านี้ เป็นสมการการเมืองที่ฝ่าย คสช. ต้องคิดคำนวณให้หนัก

เพราะความแน่นอน ไม่มีอยู่จริงในทางการเมือง

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่