ฟังสุ้มเสียงของบรรดาแกนนำกปปส.ใน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อได้ว่า “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คงเดินหน้าก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่แน่นอน แม้จะเคยประกาศต่อสาธารณชนว่า จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก หลังจากละทิ้งตำแหน่งสำคัญในพรรคเก่าแก่ เพื่อออกมาต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม
ทั้ง “นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ” และ “นายวิทยา แก้วภราดัย” ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ “นายสุเทพ” ก็ออกมายืนยันว่า ภารกิจปฏิรูปประเทศยังไม่เสร็จสิ้น แต่เป้าหมายลึกๆจริง ต้องการสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้ง
เพราะอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่า ถ้าได้หัวหน้ารัฐบาลคนปัจจุบัน เข้ามารับตำแหน่งนายกฯอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการขุดรากถอนโคน “ระบอบทักษิณ” ที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทย จะทำได้อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีสามเหล่าทัพช่วยสนับสนุนอยู่
จึงไม่แปลกที่มีข่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยทำใจไว้แล้วว่า จะยอมเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยเชื่อว่าไม่มีทางจะได้เสียงส.ส.เกิน 200 เสียง ด้วยเหตุที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคขนาดกลางและเล็ก จึงไม่แปลกที่ระยะหลัง เครือข่ายระบอบทักษิณ จะพยายามสร้างกระแสว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงเกินครึ่ง หรือเกิน 220 เสียง หวังให้สังคมเชื่อในข้อมูลที่สื่อสารออกมา
แม้กระทั่งความพยายามต่อสายไปถึง “พรรคประชาธิปัตย์” ของแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อขอตั้งรัฐบาลสองพรรค ยอมเปิดทางให้ “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากพรรคการเมืองเก่าแก่ ด้วยเหตุที่ว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจในพรรคประชาธิปัตย์ คงประเมินแล้วว่า ถ้ารับข้อเสนอดังกล่าว เท่ากับพรรคจะถูกกระแสสังคมโจมตีทันที เพราะก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยม และการออกกฎหมายล้างผิดแบบสุดซอย
ขณะที่พรรคการเมือง ซึ่งนายสุเทพจะทำคลอดขึ้นมาใหม่นั้น มีข่าวว่าได้ทาบทาม “พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร (กทม.) ให้เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค ด้วยเชื่อมั่นในความใจถึง พึ่งได้ และกล้าได้กล้าเสีย
ส่วนหัวหน้าพรรคนั้นมีการทาบทามบุคคลไว้หลายคน โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ “นายศุภชัย พาณิชภักดิ์” ซึ่งได้รับการยอมรับจากแวดวงสังคมไทยและนานาชาติพอสมควร
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดเดิมของนายสุเทพนั้น อดีตแกนนำกปปส.เชื่อว่า จะโน้มน้าวให้สมาชิก หันมาให้การสนับสนุน “พล.อ. ประยุทธ์” ได้ไม่ยาก เพราะช่วงเป็นเลขาธิการพรรค คอยรับหน้าที่ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายและการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งตามธรรมชาติของพรรคการเมืองเก่าแก่ มักมีปัญหาเรื่องการระดมทุนเป็นประจำ
แม้กระทั่งการมอบหมายให้ “นายกษิต ภิรมย์” อดีตรมว.ต่างประเทศ เข้าไปช่วยเหลือ และดูแลสมาชิกพรรคในช่วงไม่ได้ทำกิจกรรมการเมือง ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่า มีเพียงสมาชิกพรรคสาย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เท่านั้น ที่ออกให้ข่าวโจมตีแกนนำ คสช.
ขณะที่ท่าทีของ “นายอภิสิทธิ์” เมื่อถูกถามถามถึง กรณีนายสุเทพเตรียมตั้งพรรค ขึ้นมาสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ว่า “เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ และจะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งผมไม่กังวลที่กรณีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกพรรคที่ยังมีบางส่วนศรัทธาในตัวนายสุเทพ”
เพราะถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะตัดสินใจ จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อหรือไม่ แต่ตอนนี้สมาชิกพรรคยังไม่มีบุคคลใดลาออก และแนวความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาโดยตลอด ที่พร้อมสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่กับนายสุเทพนั้น อาจมีแนวคิดที่ต่างกันในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อ
แต่สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่รู้คือ นอกจากสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ที่คอยยกยอปอปั้น และประกาศสนับสนุน ให้เข้ามาชิงเก้านายกฯอีกรอบหนึ่ง บุคคลนอกพรรคไม่ว่าจะเป็น แกนนำคสช. พรรคการเมืองต่างๆ และบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ล้วนเข็ดขยาดต่อบทบาท และท่าทีของนายอภิสิทธิ์
สำคัญมากกว่านั้น นอกเหนือจากเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง หลังจากเกิดเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.และคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 “ผู้มากบารมี” ที่ทุกคนเกรงอกเกรงใจ ก็รับไม่ได้กับบทบาทแลบะการตัดสินใจของ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์”
อย่าลืมว่า หัวหน้า คสช.เริ่มต้นด้วยเสียงสนับสนุน 250 เสียง หาเสียงส.ส.อีกแค่ 125 คน ก็คงไปต่อได้ไม่ยาก ยิ่งมีกองทัพหนุนหลัง เพราะจำนวนสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 เสียง กึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง และอย่าลืมว่า ไม่มีทางที่ “ประชาธิปัตย์” จะยอมจับมือกับ “เพื่อไทย” แคนี้ก็พอมองออกแล้วว่า ใครจะต้องรับบท “โดดเดี่ยวผู้น่ารัก” ภายหลัง
การเลือกตั้ง
“อโศกมนตรี ”