ผศ.ดร.เกษม เพ็ญพินันท์ ภาควิชาปรัชญา อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าว “ริงไซด์นิวส์” ว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ แม้มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งมากนัก เพราะพรรคการเมืองใหญ่ยังคงกุมความได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากมีฐานเสียงสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชาธิปัตย์ น่าจะเป็นพรรคที่กุมความได้เปรียบมากกว่า ในขณะเดียวกับพรรคขนาดกลาง ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย หรือพรรคภูมิใจไทยจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเชื่อแน่ว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล จำต้องมีการจับมือพรรคการเมืองอับดับ 3 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนี้พรรคการเมืองอันดับ 3 จะเป็นคนกำหนดว่าพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ในขณะเดียวกัน พรรคที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคของกลุ่มกปปส.ของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พรรคของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จับมือกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ หรือแม้แต่พรรคเกรียนของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ก็จะเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพราะกระแสดีแต่ปัจจัยการเลือกตั้งไม่ได้อยู่ที่กระแส สุดท้ายพรรคเหล่านี้จะได้จำนวนส.ส.ไปพอสมควรแต่ไม่มาก โดยเฉพาะพรรคของกลุ่มกปปส.ที่มีนายสุเทพ อยู่เบื้องหลังนั้น ก็จะได้จำนวนที่นั่งจำนวนหนึ่ง เพราะในพื้นที่ภาคใต้ด้วยความนิยมในตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลดลง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีฐานความนิยมในระดับหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลให้จำนวนส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงและแบ่งไปให้พรรคกปปส. แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะสุดท้ายประชาชนอาจจะไม่เอาทั้งประชาธิปัตย์และกปปส. เพราะเข็ดหลาบกับการถูกหลอกใช้ในคราวการประท้วงโค่นล้มอดีตรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่าพรรค กปปส.ของนายสุเทพ ก็ไม่ต่างจากพรรคพันธมิตรฯสมัยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนตั้งพรรคการเมือง ไม่สามารถที่จะชนะการเลือกตั้งได้สุดท้ายก็ปิดตัวลงในที่สุด
ในสนามการเมืองยังมีปัจจัยมากกว่าความนิยมในตัวบุคคลมาก ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นยังไม่สามารถที่จะวัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะฝ่าด่านมาได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้กำหนดตัวรัฐบาลเอง